ดินทุ่งหญ้า...มอลลิซอลล์ (Mollisols)

ชุดดินตาคลี

 

ชุดดินชัยบาดาล

 

      มอลลิซอลส์ เป็นดินที่มีชั้นดินบนหรือผิวดินที่หนา ออกสีคล้ำจนถึงดำ มีโครงสร้างของดินดี มีอินทรียวัตถุเป็นองค์ประกอบในปริมาณที่สูง เนื้อดินมีลักษณะร่วนซุย และนุ่มมือเมื่อสัมผัส พบได้ทั้งในพื้นที่ลุ่มและที่ดอน โดยเฉพาะในบริเวณที่วัตถุต้นกำเนิดดินสามารถสลายตัวให้ธาตุที่เป็นด่างในปริมาณที่สูง พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้า ภายใต้สภาพอากาศที่มีช่วงแห้งแล้ง ซึ่งไม่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการชะล้างอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังคงมีธาตุประจุบวกที่เป็นด่างเหลืออยู่ในหน้าตัดดินได้มาก โดยทั่วไปเป็นดินที่มีพัฒนาการไม่มากนัก และจัดเป็นดินที่มีศักยภาพทางการเกษตรเกษตรดี ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง

     มอลลิซอลส์ในประเทศไทยพบในปริมาณน้อย มีขอบเขตจำกัดอยู่ในบริเวณที่วัตถุต้นกำเนิดดินมีปฏิกิริยาเป็นด่าง ในที่ดอนพบดินนี้แจกกระจายอยู่ในสภาพพื้นที่ที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดจนถึงลอนชัน หรือตามเชิงเขา ที่วัตถุต้นกำเนิดดินเป็นวัตถุตกค้าง (residuum) เศษหินเชิงเขา (colluvium) หรือตะกอนน้ำพาท้องถิ่นของ มาร์ล หินปูน บะซอลต์ หรือแอนดีไซต์ ส่วนในพื้นที่ลุ่มจะพบอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เคยได้รับอิทธิพลการขึ้นลงของน้ำทะเลในอดีตวัตถุต้นกำเนิดเป็นตะกอนน้ำกร่อย (brackish water deposit) หรือตะกอนน้ำเค็ม (marine deposit) พัฒนาการของหน้าตัดดินพบได้หลายแบบ เช่น Ap-Ck-Cr, Ap-Bw-Ck, Ap-Bw-Bc, Bck หรือ Apg-Bwg-BCg เป็นต้น

     สัณฐานวิทยาของดินอันดับมอลลิซอลส์ที่พบในประเทศไทยจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่เกิด แต่ส่วนใหญ่มักมีเนื้อดินเป็นดินเหนียว ถึงดินเหนียวจัด โครงสร้างดี มีการซาบซึมน้ำที่ผิวหน้าดินค่อนข้างดีในที่ดอน แต่ขังน้ำในที่ลุ่ม ดินมีการอุ้มน้ำดี คุณสมบัติทางเคมีส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติดี แต่อาจมีปัญหาเมื่อใช้ในเชิงการเกษตร เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดความชื้นในฤดูเพาะปลูกในพื้นที่ดอน หรือเกิดปัญหาน้ำท่วมได้ในที่ลุ่ม และอาจมีปัญหาการขาดธาตุฟอสฟอรัสและเกิดความเป็นพิษของแคลเซียมได้

มอลลิซอลส์ที่พบในประทศไทยแบ่งออกได้ 3 กลุ่มคือ

      ดินมอลลิซอลส์ที่เกิดในบริเวณที่ราบน้ำลุ่มทะเลขึ้นถึงเก่าและเกิดจากตะกอนที่เป็นด่าง ได้แก่ชุดดินบางเลน
      มอลลิซอลส์ที่พบบริเวณเทือกเขาสูงตอนกลางของประเทศเป็นดินที่มีการระบายน้ำดีปานกลาง มีชั้นแคลซิกหรือชั้นที่มีการสะสมของปูน
        ภายในความลึกไม่เกิน 1 เมตร ได้แก่ ชุดดินตาคลี
      มอลลิซอลส์ที่มีชั้นแคลซิกอยู่ลึกกว่า 1 เมตร พบในบริเวณเทือกเขาสูงตอนกลาง และภาคเหนือ ได้แก่ ชุดดินสบปราบ ชุดดินชัยบาดาล
        และชุดดินสมอทอด