ตามระบบการจำแนกดินประจำชาตินี้ สามารถแบ่งดินในประเทศไทยออกเป็น 20 กลุ่มดินหลัก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้...
 
ชุดดินรังสิต

Alluvial soils

    เป็นดินที่เกิดขึ้นใหม่ มีอายุน้อย มีพัฒนาการของหน้าตัดดินต่ำ หน้าตัดดินเป็นแบบ A-C, A-Cg, Ag-Cg หรือ A-(B)-Cg เกิดจากการทับถมโดยน้ำตามที่ราบลุ่ม เช่นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ทะเลสาบ ปากแม่น้ำ ชายทะเล และเนินตะกอนน้ำพารูปพัด (alluvial fan) สภาพของการทับถมอาจเป็นบริเวณของน้ำจืด น้ำเค็ม หรือน้ำกร่อยก็ได้ ส่วนมากจะมีเนื้อดินละเอียด และการระบายน้ำเลว มักพบลักษณะที่แสดงการขังน้ำ ยกเว้นบริเวณสันดินริมน้ำ และที่เนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่เนื้อดินจะหยาบกว่า และดินมีการระบายน้ำดี ส่วนประกอบและแร่ธาตุที่มีอยู่ในดิน alluvial มักแตกต่างกันมาก และมักจะผสมปนเปจากบริเวณต้นกำเนิดที่มาจากหลายแห่ง ชุดดินที่สำคัญของกลุ่มดินหลักนี้คือ

- พวกที่เกิดจากตะกอนน้ำจืด ได้แก่ ชุดดินท่าม่วง สรรพยา สิงห์บุรี ราชบุรี อยุธยา
- พวกที่เกิดจากตะกอนน้ำกร่อย ได้แก่ ชุดดินองครักษ์ รังสิต
- พวกที่เกิดจากตะกอนภาคพื้นสมุทร ได้แก่ ชุดดินท่าจีน บางกอก

 

Hydromorphic Alluvial soils

     หมายถึงดิน Alluvial soils ที่มีการระบายน้ำค่อนข้างเลว-เลวมาก ในกรณีที่มีการจำแนกดินออกเป็น Alluvial soils และ Hydromorphic Alluvial soils ดินที่อยู่ในกลุ่มดินหลัก Alluvial soils จะเป็นดินที่มีการระบายน้ำดี และอยู่ในบริเวณที่สูงกว่าในภูมิทัศน์ที่ต่อเนื่องกัน ดินในทั้งสองกลุ่มดินหลักนี้มักจะได้รับอิทธิพลน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากเสมอ

 

ชุดดินหัวหิน

Regosols

     มีพัฒนาการของหน้าตัดดินต่ำ เกิดชัดเจนเฉพาะดินบน (A) และมีหน้าตัดดินแบบ A-C หรือ A-Cg เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่เป็นทรายจัดอาจเป็นทรายบริเวณชายฝั่งทะเล หรือบริเวณเนินทราย หรือทรายจากแม่น้ำ ดินมีการระบายน้ำดี จนถึงระบายน้ำดีจนเกินไป พบทั่วไปเป็นแนวยาวตามชายฝั่งทะเล และตามตะพักลำน้ำของแม่น้ำที่มีตะกอนเป็นทรายจัด มีปฏิกิริยาค่อนข้างเป็นกรด ชุดดินที่สำคัญได้แก่ ชุดดินหัวหิน พัทยา ระยอง และน้ำพอง

 

 

Lithosols

     เป็นดินตื้นมาก ส่วนใหญ่ลึกไม่เกิน 30 ซม. มักพบตามบริเวณที่ลาดเชิงเขาซึ่งมีกษัยการสูง การเรียงตัวของชั้นดินเป็นแบบ A-C-R, AC-C-R หรือ A-R เนื้อดินมีเศษหินที่ยังไม่ผุพังสลายตัวหรือกำลังสลายตัวปนอยู่เป็นส่วนใหญ่ ดินนี้ไม่เหมาะแก่การเกษตร หรือการผลิตพืชโดยทั่วไป

ชุดดินลพบุรี

Grumusols

     เป็นดินสีคล้ำ เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่มีปฏิกิริยาเป็นด่าง เช่น หินปูน มาร์ล หรือบะซอลต์ พัฒนาการของหน้าตัดดินต่ำ เนื้อดินเป็นดินเหนียว มีองค์ประกอบเป็นแร่ดินเหนียวประเภท 2:1 ซึ่งมีความสามารถในการยืด-หดตัวได้มาก ดินจะขยายตัวเมื่อเปียก (swelling) และหดตัวเมื่อแห้ง (shrinkage) ทำให้มีลักษณะของรอยูไถล (slickensides) เกิดขึ้นในดิน ลักษณะหน้าตัดประกอบด้วยชั้น A-C หรือ A-AC-C โดยชั้น A จะหนา มีโครงสร้างดินแบบก้อนกลม (granular structure) หรือก้อนกลมพรุน (crumb structure) มักพบในบริเวณที่ราบลุ่มหรือตะพักลำน้ำ ลักษณะผิวหน้าดินเป็นพื้นที่ตะปุ่มตะป่ำ (gilgai relief) เมื่อแห้งผิวดินจะแตกระแหงเป็นร่องลึก ปฏิกิริยาดินเป็นด่าง ลักษณะโดยรวมเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่มีสมบัติทางกายภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการไถพรวน ดินนี้ในบริเวณที่ต่ำจะมีการระบายน้ำเลว ส่วนใหญ่ใช้ปลูกข้าว แต่ถ้าอยู่ในที่สูง เช่นในบริเวณใกล้เชิงเขาหินปูนมักจะมีการระบายน้ำดี ใช้ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพดชุดดินที่สำคัญ ได้แก่ ชุดดิน ลพบุรี บ้านหมี่ โคกกระเทียม บุรีรัมย์ กลุ่มดินหลัก Grumusols นี้ ไม่มีในระบบ USDA 1938 เริ่มใช้ในการเพิ่มเติมระบบ USDA เมื่อ 1949

 

ชุดดินตาคลี

Rendzinas

     เป็นดินตื้นเกิดตามเชิงเขาหินปูน วัตถุต้นกำเนิดเป็นพวกปูน (CaCO3) หรือมาร์ล เกิดเกี่ยวข้องกับดิน Grumusols แต่อยู่ในบริเวณที่สูงกว่า มักพบบริเวณที่ลาดใกล้เขา หรือ ตะพักลุ่มน้ำใกล้เขาหินปูน เป็นดินที่มีพัฒนาการของหน้าตัดต่ำ ลักษณะดินจะมีเพียงชั้น A และ C หรือ A-(B)-C ดินบนสีคล้ำ มีโครงสร้างดี ร่วน และค่อนข้างหนา มีการระบายน้ำดี ส่วนดินล่างเป็นดินเหนียวผสมปูนหรือปูนมาร์ล ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามความลึก และมักจะพบชั้นที่เป็นปูน หรือ ปูนมาร์ลล้วนๆ อยู่ในตอนล่างของหน้าตัดดิน ดินพวกนี้จะมีปฏิกิริยาเป็นด่าง (pH ประมาณ 7.0-8.0) ส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกพืชไร่ เช่นข้าวโพด หรือปลูกไม้ผล เช่น น้อยหน่า ทับทิม เป็นต้น ชุดดินที่สำคัญคือ ชุดดินตาคลี

 

ชุดดินชัยบาดาล

Brown Forest soils

     พบตามบริเวณภูเขาเป็นส่วนใหญ่ เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่เป็นวัตถุตกค้าง และเศษหินเชิงเขา ทั้งในสภาพที่หินพื้นเป็นพวกที่มีปฏิกิริยาเป็นกรด และด่าง เช่น แกรนิต ไนส์ แอนดีไซต์ มาร์ล อาจพบปะปนกับดินในกลุ่มดินหลัก Rendzinas เป็นดินตื้น พัฒนาการของหน้าตัดดินไม่มากนัก มีลักษณะหน้าตัดดินเป็นแบบ A-B-C หรือ A-B-R แต่ชั้น B มักจะไม่ค่อยชัดเจน ในประเทศไทยมักพบตามภูเขาหินปูนเป็นส่วนใหญ่ สำหรับ Brown Forest soils ที่เป็นกรด พบเพียงเล็กน้อยชุดดินที่สำคัญ ได้แก่ ชัยบาดาล ลำนารายณ์ สมอทอด

 

 

Humic Gley soils

     พบจำนวนน้อยในประเทศไทย มักเกิดผสมอยู่กับดินอื่นๆ ในลักษณะกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ในบริเวณที่ราบลุ่ม มักพบอยู่ติดกับดินในกลุ่ม Grumusols, Rendzinas หรือ Red Brown Earths เป็นดินในที่ต่ำ มีการระบายน้ำเลว พัฒนาการของหน้าตัดไม่ดีนัก ลักษณะหน้าตัดดินเป็นแบบ Ag (Apg)-Cg หรือ A-Bg-Cg ลักษณะที่สำคัญคือ ดินบนหนา มีอินทรียวัตถุสูง ดินล่างมักเป็นดินเหนียวสีเทาหรือสีเทาเข้ม มีลักษณะที่แสดงถึงสภาพที่มีการขังน้ำชัดเจน มีจุดประ ปฏิกิริยาดินเป็นด่างเล็กน้อยชุดดินที่สำคัญคือ ชุดดินแม่ขาน

 

ชุดดินร้อยเอ็ด

Low Humic Gley soils

     เป็นดินที่เกิดจากตะกอนน้ำพา พบในบริเวณที่ต่ำที่มีการระบายน้ำเลว ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณตะพักลุ่มน้ำต่ำที่สูงกว่าที่ราบลุ่มใหม่ใกล้น้ำ ระดับน้ำใต้ดินตื้นและแช่ขังเป็นครั้งคราว แต่มีพัฒนาการของหน้าตัดค่อนข้างดี ลักษณะสำคัญของดินในกลุ่มนี้คือ หน้าตัดดินมีลักษณะที่แสดงออกถึงการขังน้ำ มีจุดประชัดเจน หน้าตัดดินเป็นแบบ A1-A2-Bt,  Ap-A2-Bt,  A1-A2-Btg,  A1g-A2g-Btg, หรือ Apg-Btg พวกที่มีอายุน้อยจะอุดมสมบูรณ์มากกว่าพวกที่เกิดนานกว่า บางบริเวณจะพบศิลาแลงอ่อน (plinthite) ในตอนล่างของหน้าตัดดิน ส่วนใหญ่เป็นดินที่มีความอิ่มตัวเบสต่ำ pH ประมาณ 4.5-5.5 สำหรับพวกที่เกิดอยู่ในบริเวณตะพักลุ่มน้ำค่อนข้างใหม่ มักจะมีความอิ่มตัวเบสสูง ชุดดินที่สำคัญ คือ เพ็ญ สระบุรี มโนรมย์ เพชรบุรี เชียงราย หล่มเก่า ส่วนพวกที่เกิดบนตะพักลุ่มน้ำค่อนข้างเก่า ได้แก่ชุดดิน ร้อยเอ็ด ลำปาง เป็นต้น

 

ชุดดินท่าอุเทน

Ground Water Podzols

     เป็นดินที่มีการระบายน้ำเลวถึงค่อนข้างเลวพบเฉพาะในบริเวณที่มีฝนตกชุก เช่น ในภาคใต้ บริเวณชายฝั่งตะวันออก หรือบางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดนครพนม เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่เป็นทราย ในบริเวณที่เป็นทรายจัด เช่น หาดทรายเก่าหรือตะกอนทรายเก่า ในบริเวณที่ค่อนข้างต่ำ มีพัฒนาการของหน้าตัดดี ลักษณะของหน้าตัดดินเป็นแบบ A1-(A2)-Bh-Cg หรือ A1-A2-Bir-Cg ชั้นดินบนสีคล้ำ และมีอินทรียวัตถุสูง ชั้น A2 (albic horizon) หรือชั้นชะล้างมีสีซีดจางเห็นได้ชัดเจน ชั้น Bh มีสีน้ำตาลเข้มและมีการอัดตัวค่อนข้างแน่น แข็ง เนื่องจากมีการสะสมอินทรียวัตถุที่สลายตัวแล้วกับอะลูมินัมออกไซด์และ/หรือเหล็กออกไซด์ มีปฏิกิริยาเป็นกรด pH ต่ำ ประมาณ 4.0-5.0 ตลอดทั้งหน้าตัดชุดดินที่สำคัญคือ ชุดดินบ้านทอน ท่าอุเทน

 

ชุดดินหนองแก

Solodized-Solonetz

     พบในบริเวณที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และวัตถุต้นกำเนิดมีเกลือผสมอยู่ เช่นบริเวณชายฝั่งทะเลเก่า หรือบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากเกลือที่มาจากใต้ดิน เช่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย เป็นต้น มีลักษณะของหน้าตัดดินเป็นแบบ A1-A2-Bt ดินมีการระบายน้ำเลว ชั้น Bt จะแข็งแน่นและมีโครงสร้างแบบแท่งหัวมน (columnar structure) หรือแบบแท่งหัวตัด (prismatic) ดินบนเป็นดินร่วนปนทราย มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5-5.5 ส่วนดินล่างมี pH สูง 7.0-8.0 เช่นชุดดินกุลาร้องไห้ ชุดดินหนองแก เป็นต้น

 

ชุดดินอุดร

Solonchak

     เป็นดินที่มีการระบายน้ำเลวถึงค่อนข้างเลว มีเกลือสะสมอยู่ในชั้นดินมาก หน้าตัดดินเป็นแบบ Apg-Cg หรือ Apg-Bg-Cg ในดินพวกนี้จะมีชั้นดินที่เป็นดินเหนียวอยู่เป็นชั้นบางๆ สลับกับชั้นทราย เกิดขึ้นให้เห็นชัดเจน ในฤดูแล้งจะเห็นคราบเกลือสีขาวๆ ที่ผิวหน้าดิน ความเป็นกรดเป็นด่างมากกว่า 7.0 เช่น ชุดดินอุดร

 

Non Calcic Brown soils

     พบไม่มากนักในประเทศไทย พบในบริเวณตะพักลำน้ำค่อนข้างใหม่ พัฒนาการของหน้าตัดดี ลักษณะหน้าตัดดินแบบ A1(Ap)-A2-Bt ดินบนสีน้ำตาลเทา ดินล่างมีสีน้ำตาล น้ำตาลปนเหลือง หรือน้ำตาลปนแดง เกิดจากตะกอนน้ำค่อนข้างใหม่ มีเนื้อดินตั้งแต่ค่อนข้างหยาบไปจนถึงละเอียด และมีปฏิกิริยาเป็นกรดเล็กน้อย ในหน้าตัดดินจะพบแร่ไมกาอยู่ทั่วไป มีการระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง เหมาะที่จะปลูกพืชไร่และไม้ผล ชุดดินที่สำคัญได้แก่ ชุดดิน กำแพงแสน ธาตุพนม

 

ชุดดินโคราช

Gray Podzolic soils

     เกิดในบริเวณตะพักลำน้ำเป็นดินที่มีอายุค่อนข้างมาก มีพัฒนาการของหน้าตัดดี พบในบริเวณลำน้ำระดับต่ำ-ระดับกลาง วัตถุต้นกำเนิดเป็นตะกอนน้ำที่ทับถมมานานแล้ว ซึ่งจะเป็นกรดและมีแร่ที่สลายตัวง่ายเหลืออยู่ในปริมาณน้อย ในสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่น ซึ่งทำให้การไหลผ่านหน้าดินเป็นไปอย่างช้าๆ และภูมิอากาศที่มีระยะเปียก-แห้งสลับกันเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเกิดดินประเภทนี้ ลักษณะดินแสดงให้เห็นว่าดินมีการชะละลายสูง สีจะออกขาวหรือเทาจัดเมื่อแห้ง และมีลักษณะการเคลื่อนย้ายบนผิวหน้าดินค่อนข้างชัดเจน เนื้อดินละเอียดและอินทรียวัตถุถูกชะล้างไปเมื่อหน้าดินถูกฝน คงเหลือแต่จุดที่เกาะตัวกันแน่นอยู่เป็นจุดๆ อาจพบพลินไทต์ในชั้นดินล่าง เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ-ต่ำมาก ลักษณะของหน้าตัดดินเป็นแบบ A1-A2-Bt กลุ่มดินนี้พบเป็นบริเวณกว้างขวางในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางแห่งในภาคเหนือ ชุดดินที่สำคัญ เช่น ชุดดินโคราช สันป่าตอง ห้วยโป่ง เป็นต้น

 

ชุดดินท่ายาง

Red Yellow Podzolic soils

     เป็นดินเก่าที่มีพัฒนาการของหน้าตัดดินดี เกิดในสภาพที่คล้ายคลึงกับดินในกลุ่มดินหลัก Reddish Brown Lateritic Soils ลักษณะหน้าตัดดินเป็นแบบ A1-A2-Bt-C หรือ R พบทั่วไปในบริเวณภูเขาและที่ลาดเชิงเขาหรือที่ราบขั้นบันไดเก่า วัตถุต้นกำเนิดดินมาจากหินหลายประเภท ส่วนใหญ่เป็นหินที่มีปฏิกิริยาเป็นกรดถึงเป็นกลาง ดินมีการระบายน้ำดี ลักษณะเนื้อดินเปลี่ยนแปลงได้มากตั้งแต่ค่อนข้างหยาบจนถึงค่อนข้างละเอียด สีจะออกแดง เหลืองปนแดงและเหลือง มีชั้น E ที่ค่อนข้างชัดเจน มีสีจางหรือเทากว่าชั้นอื่น และอาจมีเศษหินที่สลายตัว หรือ พลินไทต์ปะปนอยู่ด้วยในดินล่าง ตัวอย่างได้แก่ ชุดดินท่ายาง โพนพิสัย ชุมพร หาดใหญ่ ภูเก็ต เป็นต้น จัดว่าเป็นกลุ่มดินที่พบมากกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย

 

ชุดดินอ่าวลึก

Reddish Brown Lateritic soils

     เป็นดินเก่า มีพัฒนาการของหน้าตัดดี เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่เป็นวัตถุตกค้างของหินที่มีปฏิกิริยาเป็นกลางและที่มีปฏิกิริยาเป็นด่าง ลักษณะหน้าตัดดินเป็นแบบ A1-A3-Bt-C หรือ R เป็นดินที่มีการระบายน้ำดี ดินชั้นบนมีสีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลแดง มีเนื้อดินตั้งแต่ดินร่วน (loam) ถึง ดินร่วนเหนียว (clay loam) ส่วนชั้นดินล่างมีเนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียว ถึงดินเหนียว (clay) ที่มีสีแดง ลักษณะของดินแสดงการชะล้างสูง และอาจพบชั้นศิลาแลงในชั้นล่างของหน้าตัดดิน ลักษณะดินจะคล้ายกับดินในกลุ่มดินหลัก Red Brown Earths ที่ต่างกันคือจะมีเป็นกรดมากกว่า pH ประมาณ 5-6 ชุดดินที่สำคัญคือ ชุดดินลี้ บ้านจ้อง อ่าวลึก ตราด เป็นต้น

 

ชุดดินปากช่อง

Red Brown Earth

     เป็นดินที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับหินปูน หรือหินที่มีปฏิกิริยาเป็นด่าง และจะมีความสัมพันธ์กับหินดินดานด้วย ดินมีสีแดง มีพัฒนาการของหน้าตัดดี เป็นแบบ A1-A3-Bt-C หรือ R เนื้อดินเป็นดินเหนียว มีการระบายน้ำดี เกิดในบริเวณที่ราบซึ่งเกิดจากกษัยการ หรืออาจจะเกิดตามไหล่เขาได้ ดินพวกนี้มีลักษณะสีดิน และการเรียงตัวของชั้นดินใกล้เคียงกับดินในกลุ่มดินหลัก Reddish Brown Lateritic มากต่างกันที่ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน โดยที่ Red Brown Earth มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างสูงกว่า (pH ประมาณ 6.5-8.0) ชุดดินที่สำคัญคือ ชุดดินปากช่อง เป็นกลุ่มดินที่มีการปลูกพืชไร่และทำสวนผลไม้กันมาก

 

ชุดดินยโสธร

Red Yellow Latosols

     เป็นดินที่มีการระบายน้ำดีจนถึงดีเกินไป มีอายุมาก หน้าตัดดินลึก มีลักษณะที่แสดงว่ามีการชะละลายสูง พัฒนาการของหน้าตัดดี ลักษณะหน้าตัดเป็นแบบ A-B (Box) หรือ A1-A3-B (Box) พบเป็นหย่อมๆ ในบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับสูง เกิดจากตะกอนน้ำพาเก่ามาก มีสมบัติทางกายภาพดี แต่สมบัติทางเคมีไม่ค่อยดี มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีสีแดงหรือเหลืองตลอดหน้าตัดดิน ดินบนเนื้อดินหยาบ ดินล่างมีพวกเซสควิออกไซด์สูง บางแห่งพบศิลาแลงในตอนล่างของหน้าตัดดิน และไม่พบการเคลือบผิวของดินเหนียวในชั้น B ชุดดินที่สำคัญ ได้แก่ ศรีราชา ยโสธร

 

ชุดดินท่าใหม่

Reddish Brown Latosols

     เกิดในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับภูเขาไฟ วัตถุต้นกำเนิดเป็นตะกอนตกค้าง หรือตะกอนดาดเชิงเขา ของหินที่เป็นด่างเช่น บะซอลท์ แอนดีไซต์ เป็นดินที่มีการระบายน้ำดี และพัฒนาการของหน้าตัดดี มีหน้าตัดดินแบบ A-Box (ox = ออกไซด์ของเหล็ก) เนื้อดินเป็นดินเหนียวสีแดง สีแดงปนน้ำตาล มีความร่วนซุยดี เป็นดินลึกมาก มักจะเหมาะกับการใช้ทำสวนผลไม้ เช่น ชุดดินท่าใหม่

 

Organic soils

     Organic soils หรือเรียกว่า Peat and Muck soils เป็นดินที่มีลักษณะแตกต่างไปจากกลุ่มดินอื่นๆ เพราะเป็นดินที่มีอินทรีย์คาร์บอนอยู่ในองค์ประกอบมากกว่าร้อยละ 20 โดยน้ำหนัก หรือประกอบไปด้วยอินทรียวัตถุล้วนๆ พบในบริเวณแอ่งต่ำมีน้ำขังอยู่เกือบตลอดปีและมีการสะสมของวัสดุดินอินทรีย์สูง สำหรับในประเทศไทยพบมากทางภาคใต้ ในจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะในพื้นที่พรุ ลักษณะเด่นคือสีจะคล้ำ มีอินทรีย์วัตถุสูง เป็นกรดจัด มีการพัฒนาหน้าตัดดินน้อย ลักษณะหน้าตัดเป็นแบบ A-C เมื่อระบายน้ำออก จะหดตัวได้มาก เช่น ชุดดินนราธิวาส พบมากในภาคใต้ของประเทศไทย