พัฒนาการเกี่ยวกับการจำแนกดินในประเทศไทยเริ่มมาจากนักวิชาการดินอเมริกัน ดังนั้นระบบการจำแนกดินที่ใช้ จะเป็นระบบของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยของระบบการจำแนกดินประจำชาติ ซึ่งเป็นระบบที่มีพื้นฐานมาจากระบบการจำแนกดินของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1938 (USDA 1938) ต่อมาภายหลัง ประเทศไทยได้นำระบบการจำแนกดินใหม่ที่เรียกว่า ระบบอนุกรมวิธานดิน (Soil Taxonomy) มาใช้แทนระบบการจำแนกดินประจำชาติเดิม โดยระบบใหม่นี้เป็นระบบที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาและนำออกมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1960 และได้ทำการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด

     เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่จะให้สามารถใช้เครื่องมือในการสำรวจและแปลงความหมายข้อมูลจากการสำรวจดินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รายละเอียดการจำแนกดินของประเทศไทยทั้งสองระบบมีดังต่อไปนี้

ระบบประจำชาต


      ระบบประจำชาติ   เป็นระบบที่มีพื้นฐานมาจากระบบการจำแนกดินของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1938 (USDA 1938) ที่ได้มีการดัดแปลงและปรับหน่วยดินให้เหมาะสมกับการใช้จำแนกดินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ USDA 1938 โดย Dr. R. Dudal และ Dr. F.R. Moormann สองนักวิทยาศาสตร์ของดินองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในปี 1964
แนวความคิดหลักของระบบ USDA 1938 นี้ถือว่า โซนของภูมิอากาศ และพืชพรรณ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ดินมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ในระบบมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยการจำแนกขั้นสูงและขั้นต่ำ โดยขั้นสูงประกอบด้วย อันดับ (order) อันดับย่อย (suborder) และกลุ่มดินหลัก (great soil group) ส่วนในขั้นต่ำ ประกอบด้วย วงศ์ (family) ชุดดิน (series) ชนิดดิน (type) กับประเภทของดิน (phase) ซึ่งประเภทของดินจะสามารถใช้ประกอบในการเรียกชื่อหน่วยดินในการทำแผนที่ดินได้ในทุกระดับการจำแนก ประเทศไทยเคยใช้ระบบดังกล่าวนี้เป็นระบบการจำแนกดินประจำชาติมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง  ในประเทศไทยไม่ได้ใช้การจำแนกขั้นอันดับหรืออันดับย่อยมากนัก ที่ใช้มากคือตั้งแต่ระดับกลุ่มดินหลัก( great soil group) ลงไป แต่ไม่ได้ใช้ขั้นวงศ์  

      ด้วยวิธีการจำแนกดินระบบดังกล่าวนี้ สามารถแบ่งดินในประเทศไทยออกได้เป็น 20 กลุ่มดินหลัก (great soil group) ด้วยกัน ซึ่งในการจำแนกดินทั้งหลายออกเป็นกลุ่มดินหลักต่างๆ กันนี้ จำแนกโดยยึดลักษณะสัณฐานของดิน (soil morphology) เช่นลักษณะการจัดเรียงตัวกันของชั้นดินในบรรทัดฐานสำคัญในการจำแนก ถ้าลักษณะดังกล่าวคล้ายคลึงกันก็จะจัดดินเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มดินเดียวกัน แต่ทั้งนี้ต้องมีวัตถุต้นกำเนิดดิน พัฒนาการของหน้าตัดดิน ตลอดจนลักษณะภูมิอากาศใกล้เคียงกันด้วย

      เมื่อจำแนกดินออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แล้ว ในแต่ละกลุ่มยังมีการแบ่งย่อยออกไปอีก เรียกว่าชุดดิน แต่ละชุดดินจะมีชื่อเรียก โดยใช้ชื่อสถานที่ที่พบดินนั้นเป็นครั้งแรก เช่น ชุดดินโคราช ชุดดินลำปาง ชุดดินยะลา และภูเก็ต เป็นต้น แต่ละชุดดินมีลักษณะประจำตัวของมันเอง ซึ่งลักษณะที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการแบ่งดินจากกลุ่มดินมาเป็นชุดดินได้แก่ลักษณะปลีกย่อยต่างๆ ทางเคมีและกายภาพดิน สีของดิน ปริมาณและการจัดเรียงตัวของชั้นดิน โครงสร้างดินปริมาณธาตุอาหารในดิน ตลอดจนปฏิกิริยาดินเป็นต้น และในแต่ละชุดดินยังสามารถแบ่งย่อยออกไปได้เป็นชนิดดิน (soil type) อีกทั้งนี้โดยยึดลักษณะของเนื้อดินของดินบน ของแต่ละชุดดินเป็นหลัก เช่น ชุดดินโคราช ชนิดที่มีเนื้อดินบนเป็นดินร่วน (Korat series, loam type) หรือชุดดินโคราชชนิดที่มีเนื้อดินบนเป็นดินร่วนปนทราย (Korat series, sandy loam type) เป็นต้น   
รายละเอียดของกลุ่มดินหลักต่างๆ มีดังนี้ .....
.

  ระบบอนุกรมวิธานดิน


     เนื่องจากพบว่าระบบการจำแนกดินแบบเก่ามีข้อบกพร่องหลายประการ โดยเฉพาะในกรณีที่นำเอาสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดดินมาเป็นบรรทัดฐานมากเกินไป จนบางครั้งทำให้เกิดความสับสนในการจำแนกดินในสนาม นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับ หรืออันดับย่อย หรือกลุ่มดิน ยังให้ไว้กว้างเกินไปจนทำให้บางชุดดินสามารถจัดเข้ากลุ่มดินได้หลายกลุ่ม ซึ่งตามหลักแล้วชุดดินหนึ่งๆ ควรอยู่ได้เพียงกลุ่มดินเดียว ดังนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบจำแนกกดินขึ้นมาโดยยึดหลักสำคัญว่าลักษณะที่นำมาจำแนกดินไม่ควรยึดเอาลักษณะแวดล้อมมาใช้ แต่ควรเอาลักษณะทางกายภาพและเคมีของดินโดยตรงซึ่งสามารถวัดได้ในสนามและในห้องปฏิบัติการมาใช้เป็นบรรทัดฐานสำคัญในการจำแนกดิน

     ระบบอนุกรมวิธานดินนี้ นักปฐพีวิทยาหลายคนของสหรัฐอเมริกา โดยมี Dr. Guy D. Smith เป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากนักปฐพีวิทยาทั่วโลก เพื่อนำมาจัดทำระบบการจำแนกดินแบบใหม่ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเมื่อ ปี ค.ศ. 1951 และได้ดัดแปลงแก้ไขมาเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มแรกในปี ค.ศ. 1960 โดยใช้ชื่อว่า Soil Classification A Comprehensive System-7th Approximation ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขกันอีก และได้พิมพ์เฉบับที่มีการแก้ไขออกมาเรียกว่า Supplement to Soil Classification Approximation แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1973 ได้พิมพ์แก้ไขฉบับล่าสุดออกมาใช้ โดยใช้ชื่อว่า Soil Taxonomy (กองสำรวจดิน, 2520)

     ในปัจจุบัน Soil Taxonomy หรือระบบอนุกรมวิธานดินนี้ เป็นระบบการจำแนกดินระบบหนึ่งที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในโลก ที่มีจุดประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการสำรวจทรัพยากรดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการจัดการทางการเกษตร เป็นระบบการจำแนกดินที่เป็นแบบหลายขั้น (multicategorical system) ตั้งแต่ขั้นสูงถึงขั้นต่ำ รวม 6 ขั้นด้วยกัน คือ อันดับ (order) อันดับย่อย (suborder) กลุ่มดินใหญ่ (great group) กลุ่มดินย่อย (subgroup) วงศ์ดิน (family) และชุดดิน (series) ตามลำดับ  การจำแนกดินตามระบบอนุกรมวิธานดินได้แบ่งดินออกเป็น 12 อันดับ สำหรับดินในประเทศไทยที่สำรวจพบมีเพียง 9 อันดับ ได้แก่ Alfisols, Entisols, Inceptisols, Vertisols, Histosols, Spodosols, Mollisols, Oxisols และ Ultisols  
 รายละเอียดของดินอันดับต่างๆ มีดังนี้......