ช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2478-2503)


 
     งานสำรวจและจำแนกดินของประเทศไทยได้เริ่มต้นดำเนินการมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2478 โดยมี Dr. R.L. Pendleton นักวิทยาศาสตร์ทางดินและการเกษตรชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงาน ในฐานะที่ปรึกษาของกรมกสิกรรมและประมงในสมัยนั้นเป็นผู้ริเริ่ม โดยมี นักวิชาการฝ่ายไทย คือ ดร.สาโรช มนตระกูล และ ดร.เริ่ม บูรณฤกษ์ เป็นผู้ร่วมงานอย่างใกล้ชิด ทำการสำรวจดินในระดับประเทศ (Reconnaissane soil survey) โดยยึดถือระบบการสำรวจและจำแนกดินตามแบบของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ปี 1938 หรือที่เรียกว่า “ระบบ USDA 1938” เป็นหลัก แต่เนื่องจากเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจไม่พร้อม ประกอบกับการคมนาคมที่ไม่สะดวก
ทำให้การเข้าสำรวจและตรวจสอบลักษณะดินในสนามทำได้เฉพาะแห่งเท่านั้น ในการหาขอบเขตของดินแต่ละชนิด
จึงต้องอาศัยแผนที่ทางธรณีวิทยา (surface rocks) และแผนที่ป่าไม้เป็นหลัก อย่างไรก็ตามได้ทำการผลิตแผนที่ดิน
ทั่วประเทศออกมาในมาตราส่วน 1:2,500,000 ในปี พ.ศ. 2503
ใช้หน่วยของแผนที่ดิน (map unit) เป็นชื่อชุดดิน (soil series) ประกอบกับลักษณะของดินบน
(soil type) ตัวอย่างเช่น ดินโคราชร่วนปนทรายละเอียด (korat
fine sandy loam) ดินเหนียวบางกอก (Bangkok clay) ดินเชียงใหม่ร่วน (Chiangmal loam) ดินกระบินทร์ร่วนปนกรวด (Kabin gravelly loam) เป็นต้น

     ภายหลังเมื่อทำการศึกษาดินแต่ละหน่วยที่แสดงไว้บนแผนที่ปรากฏว่า หน่วยแผนที่ที่จัดอยู่ในระดับชุดดินมีน้อย
ส่วนใหญ่หน่วยแผนที่ดินจะกว้างและมีลักษณะครอบคลุมเทียบเท่ากับกลุ่มดินหลัก (great soil group) หรือหน่วยดินสัมพันธ์ของกลุ่มดินหลัก (association of great soil group) ทั้งนี้เป็นผลมาจากแผนที่ดินที่ผลิตมีมาตราส่วนเล็กเกินไป และการตรวจสอบในสนามทำได้ไม่ทั่วถึง ผู้ทำแผนที่จึงได้รวมเอาดินหลายๆ ชุดดินไว้ในหน่วยแผนที่เดียวกัน
แต่ก็นับได้ว่าเป็นแผนที่ดินฉบับแรกของประเทศไทยที่ได้ผลิตออกมาและได้ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาและจำแนกดิน
ในเวลาต่อมา

     หลังจากปี พ.ศ 2485 ดร. เพนเดิลตัน ได้เดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาและกลับมาประเทศไทยสองสามครั้ง ในช่วงนี้ ดร.สาโรช มนตระกูล ได้ดำเนินงานด้านการสำรวจดินต่อ แต่เป็นการทำแผนที่ดินในโครงการที่ละเอียดกว่า เพื่อจะใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงแผนที่ดินของประเทศไทยให้ถูกต้องยิ่งขึ้น แผนที่ดินที่ผลิตออกมีมาตราส่วนใหญ่ขึ้นคือ มีมาตราส่วน 1:40,000-1:50,000 ตามมาตราส่วนของภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ภูมิประเทศ ในช่วงนี้เองส่วนราชการต่างๆ
ได้มองเห็นความสำคัญของแผนที่ดินละได้นำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนพัฒนาโครงการต่าง ๆ ดร.เพนเดิลตันกลับมาประเทศไทยครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ 2499 และได้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ 2500

 

ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2524)


     ต่อมาในปี 2504 Dr. F.R. Moormann ชาวเนเธอแลนด์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารและเกษตร
แห่งสหประชาชาติได้เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการสำรวจดิน และได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่
ฝ่ายไทยจากกรมการข้าวและกรมกสิกรรม คือ ดร.สาโรช มนตระกูล และ ดร. สมาน พาณิชย์พงส์ ทำการศึกษาและ
ปรับปรุงการจำแนกดินของประเทศไทย โดยอาศัยแผนที่ดินที่ Dr. Pendleton ได้จัดทำไว้เป็นหลัก และได้เริ่มโครงการสำรวจจำแนกและทำแผนที่ดินเป็นรายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางก่อน จนกระทั่งปี
พ.ศ 2506 ได้มีการจัดตั้งกรมพัฒนาที่ดินขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ โดยโอนงาน
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและจำแนกดินต่างๆ ในกระทรวงเกษตรให้มาขึ้นอยู่กับกองสำรวจดิน
กรมพัฒนาที่ดิน นับตั้งแต่นั้นมางานสำรวจและจำแนกดินของประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ

     ยุคพัฒนาการสำรวจจำแนกและทำแผนทีดินในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ 2507 หลังตั้งกรมพัฒนาที่ดิน
เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติและองค์การช่วยเหลือระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในด้านเครื่องมือในการสำรวจ การจัดทำแผนที่และงานพิมพ์รายงานสำรวจดิน ตลอดทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้รับทุนไปฝึกงานและศึกษาต่อในต่างประเทศด้านการสำรวจและจำแนกดิน การแปลภาพถ่ายทางอากาศเพื่อการสำรวจดิน และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องหลายคน เมื่อกลับจากการศึกษาได้นำความรู้มาปรับปรุงงานสำรวจจำแนกและทำแผนที่ดิน นอกจากที่กล่าวมาแล้ว มหาวิทยาลัยภายในประเทศโดยเฉพาะมหาวิทายาลัยเกษตรศาสตร์ได้ผลิตบัณฑิตทางด้านปฐพีวิทยาออกมาเพิ่มขึ้น และได้เข้ามารับราชการอยู่ที่กองสำรวจที่ดิน กรมพัฒนาที่ดินเป็นจำนวนมาก ทำให้งานด้านการสำรวจจำแนกและทำแผนที่ดินมีคุณภาพดีขึ้นทัดเทียมกับต่างประเทศ ในช่วงนี้เองกรมพัฒนาที่ดินได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มี ดร.สันทัด โรจนสุนทร ทำการปรับปรุงแก้ไขแผนที่ดินของประเทศไทยและจัดพิมพ์แผนที่ดินออกมามาตราส่วน 1:1,250,000 และ 1:2,500,000 ในปี พ.ศ 2510 โดยใช้หน่วยของแผนที่ดินระดับกลุ่มดินหลัก (great soils group) และกลุ่มดินตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไปในหน่วยแผนที่เดียวกัน (หน่วยสัมพันธ์ของกลุ่มดินหลัก) สำหรับระบบการจำแนกดินที่ใช้เป็นระบบที่ Dr. R. Dudal และ Dr.F.R. Moormann ได้จัดทำขึ้นโดยการปรับปรุงระดับกลุ่มดิน (great soil group) ของระบบการจำแนกดินของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาที่พิมพ์เผยแพร่ปี ค.ศ 1938 และมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี ค.ศ. 1949 เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของดินในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Major Soils of Southeast Asia 1964) แผนที่ดินประเทศไทยที่ผลิตออกเผยแพร่นี้ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งภายในและต่างประเทศ

     ประเทศไทยได้ใช้ระบบการจำแนกดินนี้เป็นระบบประจำชาติ (national soil classification system) มาเป็นเวลาค่อนข้างนาน ซึ่งหน่วยการจำแนกของดินต่างๆในระบบนี้ยังคงปรากฏให้เห็นในรายงานการสำรวจดินและแผนที่ดินค่อนข้างเก่าที่จัดทำขึ้นโดยกรมพัฒนาที่ดินมากมาย

 

ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514)

      ต่อมาในปี พ.ศ 2510 นักวิชาการทางดินของประเทศไทยได้เริ่มนำระบบการจำแนกใหม่ที่เสนอโดยกระทรงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ที่เรียกว่า ระบบอนุกรมวิธานดิน (soil Taxonomy) เข้ามาใช้ในระบบการสำรวจและจำแนกดินของประเทศไทย โดยได้ทดลองใช้ควบคู่กับระบบการจำแนกดินแบบเดิมก่อนในระยะแรก ต่อมาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นระบบที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นระบบการจำแนกดินในประเทศไทย จึงได้มีการค้นคว้าและเปลี่ยนแปลง
ระบบการเรียกชื่อดินในขั้นสูงให้เข้ากับระบบใหม่นี้มากยิ่งขึ้น มีการจัดทำการบรรยายลักษณะของชุดดินใหม่ (series description) ให้เข้ากับมาตรฐานที่ทางสหรัฐอเมริกาใช้อยู่ และจัดทำคู่มือสำรวจดิน (Handbook) ขึ้นเพื่อให้สายสำรวจนำไปเป็นบรรทัดฐานในการสำรวจจำแนกและทำแผนที่ดินในภาคต่าง ๆ ของประเทศ ในช่วงนี้ได้มีการสำรวจดินในระดับจังหวัด โดยใช้วิธีการสำรวจดินแบบค่อนข้างหยาบ (detailed reconnassance soil survey) แผนที่ดินพิมพ์ในมาตราส่วน 1:100,000 หน่วยของแผนที่ดินที่ใช้เป็นระดับชุดดิน (series) และหน่วยสัมพันธ์ของชุดดินตั้งแต่สองชุดขึ้นไป (association) นอกจากทำแผนที่ดินระดับจังหวัดแล้วยังทำแผนที่ดินระดับโครงการ ในระดับการสำรวจดินค่อนข้างละเอียด (semi-detailed) ซึ่งดำเนินการอย่างกว้างขวางในโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ในบริเวณที่ราบกลาง แผนที่ดินที่พิมพ์ออกใช้มีมาตราส่วน 1:50,000 หน่วยของแผนที่ดินที่ใช้ระดับชุดดิน และ phase ของชุดดินเป็นหลัก
ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3-4 (พ.ศ. 2515-2524)


     การดำเนินงานสำรวจและจำแนกดินในช่วงนี้ยังคงดำเนินการในระดับจังหวัดและระดับโครงการต่างๆ มีการแบ่งงานสำรวจดินออกเป็น 12 เขต แต่ละเขตมี 6 สายสำรวจดิน และมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานควบคุมมาตรฐานการจำแนกดิน (soil correlator) ปฏิบัติงานร่วมกับฝ่ายสำรวจดินจังหวัดต่างๆ และมีการศึกษา รวบรวมข้อมูลเพื่อปรับปรุงแผนที่ดินของประเทศใหม่

     ในปี พ.ศ. 2523 กองสำรวจและจำแนกดิน ได้ัดพิมพ์แผนที่ดินประเทศไทยฉบับใหม่ออกเผยแพร่ในมาตราส่วน 1:1,000,000 และพิมพ์แผนที่ดินระดับภาคในมาตราส่วน 1:500,000 ในปีต่อๆ มาหน่วยแผนที่ดินใช้เป็นระดับกลุ่มดินใหญ่ (great group) และกำกับด้วยชั้นอนุภาคดิน (particle-size classes) เพื่อแสดงลักษณะของเนื้อดิน ปริมาณอนุภาคขนาดดินเหนียวและก้อนกรวด หรือหินที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 มิลลิเมตร ที่ปนอยู่ในเนื้อดิน ในระดับความลึก
25-100 ซม. แผนที่ดินทั้งสองฉบับนี้ได้นำไปใช้สำหรับโครงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดแผนการใช้ที่ดินระดับภาคและระดับประเทศ

ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5-6 (พ.ศ. 2525-2534)


     การดำเนินการสำรวจดินระดับจังหวัด (detailed reconnaissance) ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งประเทศในปี
พ.ศ. 2527 และในปีนี้เองกรมพัฒนาที่ดินได้มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ ขยายงานการสำรวจดินส่วนหนึ่งออกไปขึ้นกับสำนักงานพัฒนาที่ดิน 12 เขต ซึ่งสังกัดอยู่ในฝ่ายสำรวจจำแนกและวางแผนการใช้ที่ดินระดับไร่นา กำหนดหน้าที่ให้ทำการสำรวจดินแบบละเอียด (detailed survey) และละเอียดมาก (very detailed survey) ในมาตราส่วนของแผนที่ 1:10,000 หรือใหญ่กว่าเพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนการใช้ที่ดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำในระดับไร่นา ส่วนเจ้าหน้าที่ที่สำรวจดินอีกส่วนหนึ่งที่สังกัดกองสำรวจและจำแนกดินส่วนกลาง กำหนดหน้าที่ให้ทำการสำรวจและทำแผนที่ดินในระดับโครงการที่มีเนื้อที่มีมากกว่า 10,000 ไร่ เน้นการสำรวจดินระดับค่อนข้างละเอียด (semi-detailed) ซึ่งจะผลิตแผนที่ดินออกมาในมาตราส่วน 1:50,000 หรือใหญ่กว่าเพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนการใช้ที่ดินในระดับอำเภอ และใช้ในโครงการวางแผนพัฒนาที่ดินที่ต้องการข้อมูลทางด้านทรัพยากรดินหรือที่ดินที่ละเอียดมากกว่าระดับจังหวัด

     ในการปรับปรุงโครงสร้างของกรมพัฒนาที่ดินในปี พ.ศ 2527 นี้นอกจากขยายงานสำรวจดินไปอยู่ในภูมิภาคมากขึ้นแล้ว ยังมีการจัดตั้งกองวางแผนการใช้ที่ดินขึ้นมาใหม ทำหน้าที่ในการกำหนดแผนการใช้ที่ดินระดับต่างๆ โดยเฉพาะระดับจังหวัดได้อาศัยข้อมูลจากแผนทีดินมาตราส่วน 1:100,000 เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดเขตการใช้ที่ดินประกอบกับข้อมูลทรัพยากรธรมชาติอย่างอื่นพิจารณาร่วมกับข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน นับว่าเป็นช่วงที่ข้อมูลด้านดินและแผนทีดินถูกนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย

     ในระหว่างปี 2530-2534 กองสำรวจและจำแนกดินได้จัดทำโครงการปรับปรุงแผนที่ดินระดับจังหวัด มาตราส่วน 1:50,000 ขึ้นมาใหม่ แต่หน่วยแผนที่ที่ใช้เป็นหน่วยของกลุ่มชุดดิน 59 กลุ่ม และอีก 3 หน่วย เป็นหน่วยรวมของดินตามสภาพภูมิประเทศ การแบ่งกลุ่มชุดดินได้ใช้ระดับวงศ์ดิน (soil family) เป็นหลัก ยกเว้นกรณีที่เป็นดินตื้นหรือดินมีปัญหา อาจรวมดินหลายวงศ์เข้าด้วยกันเพื่อลดจำนวนหน่วยแผนที่ลง และสะดวกในการใช้มากขึ้น พร้อมกันนั้นได้ทำการจัดชั้นความเหมาะสมของดินสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจตามชนิดของพืชที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคุ้มค่าในแต่ละจังหวัด

ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 - ปัจจุบัน


     ในปี 2535-2540 มีการดำเนินการสำรวจดินระดับค่อนข้างละเอียด ในพื้นที่ของอำเภอต่างๆ ผลิตแผนที่ในมาตรส่วน 1:50,000 รายละเอียดของแผนที่ประกอบด้วยเส้นแสดงขอบเขตของดินบนข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศที่ผ่านการนำมาต่อกันเป็นแผ่นขนาด A3 (photo mosaic) ใช้หน่วยแผนที่ระดับชุดดิน (series) หรือหน่วยย่อยของชุดดินที่เรียกว่า soil phase และมีข้อมูลชั้นความเหมาะสมของดินเพื่อการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และได้มีการจัดทำแผนที่ดินทั่วประเทศขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2545   โดยปรับปรุงหน่วยแผนที่ดินให้สอดคล้องกับการจำแนกดินตามระบบอนุกรมวิธานดิน ปี ค.ศ. 1998

     จากการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 งานสำรวจจำแนกดินได้ปรับมารวมกับงานวางแผนการใช้ที่ดิน แล้วเปลี่ยนองค์กรมาเป็นสำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน งานเดิมซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ปรับมาเป็นส่วนใหม่ คือ ส่วนมาตรฐานการสำรวจจำแนกดินและที่ดิน ส่วนสำรวจดิน ส่วนวิจัยและวินิจฉัยคุณภาพของดิน สำหรับผลงานทางด้านการสำรวจและจำแนกดินที่อยู่ในรูปแผนที่และรายงานต่างๆ ในปัจจุบันได้ถูกนำมาบันทึกข้อมูลไว้ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System; GIS) และพัฒนาระบบเรียกใช้ใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบที่อำนวยความสะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้นตัวอย่างเช่น โปรแกรม soil view, Eros view, Ag-Zone, Land Plan เป็นต้น ซึ่ผู้ใช้สามารถใช้บริการข้อมูลจาก CD-ROM หรือสืบค้นข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดินคือ www.ldd.go.th ได้โดยตรง

     จะเห็นว่าการพัฒนาการทำแผนที่ดินของประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนาขึ้นมาป็นอย่างมาก สามารถกล่าวได้ว่ามีมาตรฐานสูง ใกล้เคียงกับประเทศที่เจริญแล้ว เช่นในประเทศ สหรัฐอเมริกา ทั้งในด้านเทคนิคในการสำรวจ และการจำแนกและการควบคุมมาตราฐานการจำแนกของดิน การผลิตแผนที่ออกเผยแพร่รวมทั้งการวินิจฉัยคุณภาพของดินจากผลของของการสำรวจดินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามการปรับปรุงหรือการพัฒนาแผนที่ดินของประเทศไทยยังคงต้องดำเนินการต่อไปเพราะวิชาการทางด้านการสำรวจและจำแนกดินได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ดินเองก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะเดิมอยู่ตลอดเวลา (dynamic) ถ้าปัจจัยในการกำเนิดดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมอย่างมาก ตลอดทั้งการกระทำของมนุษย์ต่อดินก็มีส่วนทำให้คุณสมบัติและลักษณะของดินเปลี่ยนแปลงไปด้วยจึงทำให้มีการปรับปรุงการจำแนกดินและแผนที่ดินอย่างเสมอ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้