กลับหน้าแรก  
...ดินของประเทศไทย...
  ผังเว็บไซต์
 
 
การศึกษาทางดินในประเทศไทย
 
     การศึกษาทางดินในประเทศไทย ทั้งในด้านปฐพีวิทยาธรรมชาติ (pedology) และ ด้านความสัมพันธ์กับพืช (edaphology) นั้น ได้ยึดถือวิวัฒนาการทางวิชาการของยุโรปและอเมริกันเป็นหลัก ซึ่งเริ่มมากว่า 50 ปีแล้ว โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และองค์กรในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ กับมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือโดยเฉพาะในสมัยแรกๆ
     การศึกษาทั้งสองด้านที่ทำต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ นี้ ทำให้มีข้อมูลและข้อสนเทศที่สามารถนำมาใช้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับดินมากมาย และผลจากการศึกษาทำให้มองเห็นปัญหาเกี่ยวกับดินและการใช้ที่ดินมากยิ่งขึ้น
 
การดำเนินงานสำรวจจำแนกดินในประเทศไทย
   
       การศึกษาดินด้านปฐพีวิทยาธรรมชาตพื่อเรียนรู้ลักษณะสมบัติต่างๆ ของดิน การเกิดและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างตัวของดิน รวมถึงการแจกแจงชนิดของดินและทำแผนที่ดินในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2478 โดยมี Dr. R.L. Pendleton นักวิทยาศาสตร์ทางดินและการเกษตรชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาของกรมกสิกรรมและประมง ในสมัยนั้นเป็นผู้ริเริ่ม โดยมีนักวิชาการฝ่ายไทย คือ ดร.สาโรช มนตระกูล และ ดร.เริ่ม บูรณฤกษ์ เป็นผู้ร่วมงานอย่างใกล้ชิด ทำการสำรวจดินในระดับประเทศ (Reconnaissane soil survey) โดยยึดถือระบบการสำรวจและจำแนกดินตามแบบของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (Untied States Department of Agriculture : USDA) ปี 1938 หรือที่เรียกว่า ระบบ USDA 1938 เป็นหลัก
       ในปี พ.ศ. 2510 นักวิชาการทางดินของประเทศไทยจึงได้นำระบบการจำแนกใหม่ ที่เรียกว่า ระบบอนุกรมวิธานดิน (Soil Taxonomy) เข้ามาใช้ในระบบการสำรวจและจำแนกดินของประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นระบบที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นระบบการจำแนกดินในประเทศไทย จึงได้ทำการจัดจำแนกดินตามระบบอนุกรมวิธานดินนี้มาจนถึงปัจจุบัน การจำแนกดินตามอนุกรมวิธานดินนี้ มีการแบ่งชั้นการจำแนกดินออกเป็น 6 ขั้น คือ อันดับ อันดับย่อย กลุ่มดินใหญ่ กลุ่มดินย่อย วงศ์ดิน และชุดดิน
   
ชุดดิน / กลุ่มชุดดิน
 
   
ชุดดิน
  ชุดดิน เป็นขั้นการจำแนกดินต่ำสุดของระบบ ที่ใช้ลักษณะและสมบัติทางสัณฐาน กายภาพ เคมี แร่ และจุลสัณฐาน ที่มีความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการดิน เช่น การจัดเรียงชั้นดิน สีดิน เนื้อดิน โครงสร้าง ความเป็นกรดเป็นด่าง แร่ในดิน ซึ่งจะต้องอาศัยการศึกษาดินในสนามและการวิเคราะห์ดินจากห้องปฏิบัติการในการจำแนกดินด้วย
ปัจจุบันได้มีการศึกษาและตั้งชื่อชุดดินของประเทศไทยแล้วกว่า 300 ชุดดิน โดยใช้ชื่อสถานที่ที่พบดินนั้นเป็นครั้งแรกเป็นชื่อชุดดิน เช่น ชุดดินลำปาง ชุดดินนครปฐม ชุดดินปากช่อง ชุดดินกุลาร้องไห้
กลุ่มชุดดิน
       เนื่องจากชุดดินต่างๆมีเป็นจำนวนมาก และมีรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะและสมบัติของดินที่หลากหลาย จึงเป็นการยากต่อผู้ใช้ข้อมูลและแผนที่ ที่ไม่คุ้นเคยกับชื่อชุดดิน และไม่สามารถจำรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะและสมบัติของชุดดินต่างๆได้
   
       กรมพัฒนาที่ดิน ได้เข้าใจถึงปัญหานี้ ดังนั้นในปี 2532 จึงได้หาวิธีที่จะจัดกลุ่มของชุดดินขึ้นมา โดยใช้หลักเกณฑ์ในการรวมชุดดินที่มีลักษณะ สมบัติ และศักยภาพในการเพาะปลูก รวมถึงการจัดการดินที่คล้ายคลึงกัน มาไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน จากดินกว่า 300 ชุดดิน ได้จัดจำแนกใหม่เป็น 62 กลุ่มชุดดิน ด้วยกัน พร้อมคำอธิบายสั้นๆและเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
   
 
อ่านรายละเอียด / ดาวน์โหลดข้อมูล
ลักษณะและสมบัติของดินในกลุ่มชุดดินต่างๆ ได้ใน เอกสาร.. มหัศจรรย์พันธุ์ดิน..
   
  สามารถศึกษาข้อมูลชุดดิน และ แผนที่ดิน ของพื้นที่ต่างๆ ได้ที่ สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือที่ www.ldd.go.th
   
ลักษณะเด่นของดินในประเทศไทย
   
 

 จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดินอย่างต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน สามารถจะบอกได้ว่าดินส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีลักษณะเด่นเป็นดินเขตร้อนที่มีพัฒนาการค่อนข้างสูงถึงสูง และมักจะขาดความอุดมสมบูรณ์ในระดับการผลิตพืชเศรษฐกิจเนื่องจากปัจจัยและสภาพแวดล้อม ในการเกิดดินในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ลักษณะของดินที่เกิดในบริเวณต่างๆ ของประเทศไทยจึงมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไปด้วย สรุปโดยภาพรวมได้ดังนี้...

   
 
ทรัพยากรดินในภาคใต้
   
 

     ลักษณะดินที่พบส่วนใหญ่ในภาคใต้ เป็นดินที่อยู่ในสภาพอากาศที่ค่อนข้างชื้น เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นแหลมหรือแผ่นดินยื่นลงไปในทะเล มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นแนวยาวทั้งสองด้าน ตอนกลางมีเทือกเขาสูงทอดตัวเป็นแนวยาวเหนือ-ใต้ และมีสภาพภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้นมีฝนตกชุกสม่ำเสมอ

     ดินในพื้นที่ดอนส่วนใหญ่เป็นดินที่มีพัฒนาการมาก มีการชะล้างสูง ความอุดมสมบูรณ์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ จัดได้ว่าเป็นดินที่มีศักยภาพทางการเกษตรต่ำถึงค่อนข้างต่ำ

 

 
ตัวอย่างชุดดินที่ใช้ทำการเกษตรของภาคใต้
 
   
 
ทรัพยากรดินในภาคกลาง
   
 

     สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และลำน้ำสาขา
ทำให้มีพื้นที่ราบต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้าง วัตถุต้นกำเนิดดินส่วนใหญ่เป็นพวกตะกอนน้ำพา ดินในแถบนี้
จึงมีศักยภาพทางการเกษตรอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ประกอบกับพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบชลประทาน การใช้ประโยชน์ที่ดินจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าภาคอื่นๆ แม้ว่าจะมีปัญหาดินเปรี้ยวอยู่บ้าง

 
ตัวอย่างชุดดินที่ใช้ทำการเกษตรของภาคกลาง
 
   
   
 
ทรัพยากรดินในภาคเหนือ
   
 

     สภาพพื้นที่โดยทั่วๆ ไปเป็นเทือกเขาสูงสลับกับที่ราบระหว่างหุบเขา หรือที่ราบบริเวณสองฝั่งแม่น้ำสายใหญ่ ลักษณะดินที่พบส่วนใหญ่เป็นดินที่มีพัฒนาการไม่มากนัก ในดินยังคงมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำจนเกินไป ดินในบริเวณที่ราบหรือค่อนข้างราบเป็นดินที่มีศักยภาพทางการเกษตรอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง แต่ข้อจำกัดของพื้นที่ภาคเหนือที่สำคัญคือ เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงซ้อน มีพื้นที่ภูเขาและเทือกเขาต่างๆ ที่มีความลาดชันมากกว่าร้อยละ 35 ขึ้นไป ครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างขวาง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จัดว่ามีความเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายสูง ไม่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตร

 
ตัวอย่างชุดดินที่ใช้ทำการเกษตรของภาคเหนือ
 
   
   
 
ทรัพยากรดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
   
 

     สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มสลับกับที่ดอน วัตถุต้นกำเนิดดินส่วนใหญ่เกิดจากการสลายตัวผุพังอยู่กับที่ของหินตะกอน หรือเป็นชิ้นส่วนของหินตะกอนที่ผุพังและถูกเคลื่อนย้ายมาในระยะทางไม่ไกลนัก ลักษณะดินที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นดินที่มีพัฒนาการสูง มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินมีโอกาสขาดแคลนน้ำได้ง่าย เนื่องจากเนื้อดินเป็นทรายจัด นอกจากนี้ยังมีดินที่มีปัญหาในการใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรอีกด้วย เช่น ดินเค็ม ดินทราย ดินมีกรวดศิลาแลงปนอยู่ในระดับตื้น ส่งผลให้ศักยภาพของดินทางการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำหรือต่ำ

 
ตัวอย่างชุดดินที่ใช้ทำการเกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
   
 
   
 

 

.........
 

 

อ่านต่อ.. อ่านต่อ อ่านต่อ.. อ่านต่อ.. อ่านต่อ..