กลับหน้าแรก  
..ปัจจัยควบคุมการเกิด..ดิน..
  ผังเว็บไซต์
   
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกระบวนการกำเนิดดินนั้น มีอยู่มากมาย แต่ที่มีความสำคัญต่อลักษณะและสมบัติต่างๆ ของดินนั้น มีอยู่ 5 ปัจจัยหลัก ได้แกภูมิอากาศ วัตถุต้นกำเนิดดิน สภาพพื้นที่ สิ่งมีชีวิต และเวลา
 
อ่านต่อ.. อ่านต่อ ปัจจัยกำเนิดดิน 5 ปัจจัย อ่านต่อ.. อ่านต่อ..
1. ภูมิอากาศ (climate)
 
     
   
ปัจจัยด้านภูมิอากาศที่มีผลต่อการสร้างตัวของดินที่สำคัญคือ อุณหภูมิและหยาดน้ำฟ้า เช่น ฝน น้ำค้าง หิมะ ฯลฯ โดยเป็นตัวควบคุมการเกิดปฏิกิริยาต่างๆ ทั้งกายภาพ เคมี และชีวภาพ ซึ่งมีผลต่ออัตราการผุพังสลายตัวของวัสดุต่างๆ ทั้งหิน แร่ และเศษซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งยังมีอิทธิพลต่อกระบวนการเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้าย และสูญเสีย วัสดุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในดินด้วย
   
โดยทั่วไปการผุพังสลายตัวของวัสดุต่างๆ ในพื้นที่เขตร้อน เช่นประเทศไทย จะเกิดได้รวดเร็วกว่าในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงและปริมาณความชื้นที่มากกว่า ทำให้กระบวนการต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดสภาวะที่มีการสูญเสียธาตุอาหารออกจากดินอย่างต่อเนื่อง ดินที่พบในเขตร้อนส่วนใหญ่ จึงเป็นดินที่มีการพัฒนาสูงและมักจะขาดความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ภูมิอากาศยังมีผลต่อชนิดของสิ่งมีชีวิตและพืชพรรณ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมการสร้างตัวของดินด้วย
 

 

2. วัตถุต้นกำเนิดของดิน (parent material)
 
 
   
วัตถุต้นกำเนิดดิน หมายถึง วัตถุที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาแล้ว คลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุเกิดเป็น..ดิน อาจจะเกิดจากการสลายตัวผุพังโดยตรงจากหิน แร่ และซากสิ่งมีชีวิต บริเวณนั้นๆ หรือถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น โดยน้ำ ลม หรือธารน้ำแข็ง หรือการเคลื่อนย้ายมาสะสมบริเวณเชิงเขาตามแรงโน้มถ่วง
วัตถุต้นกำเนิดมีอิทธิพลต่อลักษณะและสมบัติต่างๆ ของดินที่เกิดขึ้นเช่น เนื้อดิน สีดิน ชนิดและปริมาณธาตุอาหารในดิน
วัตถุต้นกำเนิดดินที่ผุพังสลายตัวมาจากหินทราย แร่องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นพวกแร่ที่ทนทานต่อการสลายตัว มีสีจาง เช่น ควอตซ์ เมื่อพัฒนาจนกลายเป็นดิน จะให้เนื้อดินหยาบ เป็นทราย มีสีจาง มีธาตุอาหารพืชน้อย ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่ถ้าเป็นดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินบะซอลท์ หรือหินภูเขาไฟสีเข้ม เมื่อพัฒนาเป็นดิน จะให้เนื้อดินเป็นดินเนื้อละเอียด เหนียว หรือร่วนเหนียว อาจมีสีดำ น้ำตาล เหลือง หรือแดง มีความอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่สูงจนถึงต่ำ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการพัฒนา
   
3 สภาพภูมิประเทศ (relief)
 
   
   
ในที่นี้หมายรวมถึง ความสูงต่ำ ความลาดชัน และทิศทางของความลาดชัน และทิศทางของความลาดชัน มีอิทธิพลต่ออุณหภูมิและความชื้นในดิน ระดับน้ำใต้ดิน การเจริญเติบโตของพืชพรรณ การผุพังสลายตัวของหิน การไหลบ่าและไหลซึมของน้ำ การชะล้างพังทลายของดิน การทับถมของอินทรียวัตถุในดิน
   
โดยทั่วไป ดินที่พบบริเวณที่มีความลาดชันมากๆ มักจะเป็นดินตื้น มีชั้นดินน้อย ชั้นดินบนบาง หรืออาจจะไม่มีชั้นดินบนเลยก็ได้ มีโอกาสเกิดการชะล้างหน้าดินมาก ต่างจากดินที่อยู่บริเวณเชิงเนินที่มักจะมีดินชั้นบนที่หนากว่าและดินลึกมากกว่า
   
4.สิ่งมีชีวิต หรือ ปัจจัยทางชีวภาพ (organism)
 
   
   
หมายถึง พืชและสัตว์ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ทั้งที่ มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งรวมถึง มนุษย์ ด้วย
   
สิ่งมีชีวิต มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดินหลายประการ ซากพืชและสัตว์เป็นแหล่งของอินทรียวัตถุในดิน โดยสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งจุลินทรีย์ดิน ช่วยในการย่อยสลายทั้งกระบวนการทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ทำให้สมบัติของดินเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นแหล่งเก็บสะสมอาหารตามธรรมชาติในดิน
5. เวลา(time)
 
   
   
บทบาทของเวลาที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดิน มีทั้งระยะเวลาที่แท้จริง ที่ดินเริ่มพัฒนาจากวัตถุต้นกำเนิดดิน ซึ่งเป็นอายุจริงของดิน และระยะเวลาสัมพัทธ์  ซึ่งหมายถึงระดับการพัฒนาของดิน
   
ดินที่ผ่านกระบวนการเกิดดินที่รุนแรงกว่าจะถือว่ามีอายุมากกว่า เปรียบเหมือนคนอายุน้อย แต่ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาตนเองมาก ถือว่ามีประสบการณ์มากกว่าคนที่แม้จะอายุมาก แต่เรียนรู้และปฏิบัติมาน้อย
   
เราสามารถใช้ลักษณะและสมบัติบางประการในการเปรียบเทียบอายุของดินได้ เช่น ความลึกของดิน ความหนาของชั้นดิน สีของดิน เป็นต้น
  ชั้นดินที่มีการสะสมอินทรียวัตถุหนากว่าแสดงว่ามีระยะเวลาในการพัฒนามากกว่า แม้ว่าจะเริ่มพัฒนาพร้อมกันก็ตาม ดินลึกมีระยะเวลาการพัฒนามากกว่าดินตื้น หรือดินสีแดงผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงมานานกว่าดินสีดำหรือสีน้ำตาล จึงถือเป็นดินสีแดงมีอายุมากกว่า
 

ดินที่ผ่านกระบวนการเกิดดินที่รุนแรงกว่าจะถือว่ามีอายุมากกว่า เปรียบเหมือนคนอายุน้อย แต่ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาตนเองมาก ถือว่ามีประสบการณ์มากกว่าคนที่แม้จะอายุมาก แต่เรียนรู้และปฏิบัติมาน้อย เราสามารถใช้ลักษณะและสมบัติบางประการในการเปรียบเทียบอายุของดินได้ เช่น ความลึกของดิน ความหนาของชั้นดิน สีของดิน เป็นต้น

ชั้นดินที่มีการสะสมอินทรียวัตถุหนากว่าแสดงว่ามีระยะเวลาในการพัฒนามากกว่า แม้ว่าจะเริ่มพัฒนาพร้อมกันก็ตาม

ดินลึกมีระยะเวลาการพัฒนามากกว่าดินตื้น หรือ

ดินสีแดง เป็นดินที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงมานานกว่าดินสีดำหรือสีน้ำตาล และถือเป็นดินที่มีอายุมาก

   
 
อ่านต่อ >> สมบัติของดิน