สำนักสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน ๒๘ เมษายน ๒๕๕๗
...สมบัติที่สำคัญๆของ..ดิน..
 
   
ทำไม..ดิน..แต่ละแห่งจึงมีลักษณะแตกต่างกัน?
       จากการที่ดินเกิดมาจากอิทธิพลของปัจจัยกำเนิดดิน 5 ปัจจัย คือ ภูมิอากาศ วัตถุต้นกำเนิดดิน สภาพพื้นที่ สิ่งมีชีวิต และระยะเวลา ที่ควบคุมกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในดินมีความไม่เท่าเทียมกัน โดยแตกต่างไปตามสภาพแวดล้อมและช่วงเวลา จึงทำให้ดินที่เราพบมีความแตกต่างหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะ สมบัติและองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป บางแห่งตื้น บางแห่งลึก บางแห่งเป็นทราย บางแห่งเหนียว หากเรามองดินในแนวลึกลงไป จะพบความแตกต่างมากกว่าที่สังเกตจากผิวดินเสียอีก สมบัติของดินที่สำคัญ ได้แก่
   
1. ความลึกของดิน
  ..ความลึกความตื้นของดินมีผลต่อ การเลือกชนิดของพืชที่ปลูก การยึดเกาะของราก และการทรงตัวของต้นพืช ปริมาณความชื้น ธาตุอาหารในดิน และอุณหภูมิดิน..
   
 
   
ในทางการเกษตร ได้แบ่งความลึกของดินออกเป็น 5 ชั้น โดยยึดเอาความลึกที่วัดจากผิวดินถึงชั้นที่ขัดขวางการเจริญเติบโตหรือการชอนไชของรากพืช ซึ่งชั้นที่ขัดขวางการเจริญของรากพืช ได้แก่ชั้นหินพื้น ชั้นดาน ชั้นศิลาแลง ชั้นกรวด หิน หรือลูกรังที่หนาแน่นมากๆ
1) พบชั้นขัดขวางภายในความลึก 25 ซม.จากผิวดิน เป็น ดินตื้นมาก
2) พบชั้นขัดขวางระหว่างความลึก 25-50 ซม.จากผิวดิน เป็น ดินตื้น
3) พบชั้นขัดขวางระหว่างความลึก 50-100 ซม.จากผิวดิน เป็น ดินลึกปานกลาง
4) พบชั้นขัดขวางระหว่างความลึก 100-150 ซม.จากผิวดิน เป็น ดินลึก
5) พบชั้นขัดขวางลึกกว่า 150 ซม.จากผิวดิน เป็น ดินลึกมาก
   
   
2. สีของดิน
 
  สีของดิน..เป็นสมบัติของดินที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่าสมบัติอื่นๆ
  ดินแต่ละบริเวณจะมีสีที่แตกต่างกันไป เช่น สีดำ น้ำตาล เหลือง แดง หรือ สีเทา รวมถึงจุดประสีต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของแร่ที่เป็นองค์ประกอบในดิน สภาพแวดล้อมในการเกิดดิน ระยะเวลาการพัฒนา หรือวัสดุอื่นๆ ที่มีอยู่ในดิน
   
   
  ดังนั้น...จากสีของดิน เราสามารถที่จะประเมินสมบัติบางอย่างของดินที่เกี่ยวข้องได้ เช่น การระบายน้ำของดิน อินทรียวัตถุในดิน ระดับความความอุดมสมบูรณ์ของดิน....
ดินสีดำ สีน้ำตาลเข้มหรือสีคล้ำ
ส่วนใหญ่มักจะเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง
เนื่องจากมีการคลุกเคล้าด้วยอินทรียวัตถุมาก โดยเฉพาะดินชั้นบน แต่บางกรณี สีคล้ำของดิน อาจจะเป็นผลมาจากอิทธิพลของปัจจัยที่ควบคุมการเกิดดินอื่นๆ นอกเหนือไปจากการมีปริมาณอินทรียวัตถุในดินมากก็ได้ เช่น ดินที่พัฒนามาจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่ผุพังสลายตัวมาจากหินที่ประกอบด้วยแร่ที่มีสีเข้ม เช่น หินภูเขาไฟ และมีระยะเวลาการพัฒนาไม่นาน หรือดินมีแร่แมงกานีสสูง ก็จะให้ดินที่มีสีคล้ำได้เช่นกัน
ดินสีเหลืองหรือแดง
สีเหลืองหรือแดงของดินส่วนใหญ่จะเป็นสีออกไซด์ของเหล็กและอลูมิเนียม
แสดงถึงการที่ดินมีพัฒนาการสูง ผ่านกระบวนการผุพังสลายตัวและซึมชะมานาน เป็นดินที่มีการระบายน้ำดี แต่มักจะมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินสีเหลืองแสดงว่าดินมีออกไซด์ของเหล็กที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ส่วนดินสีแดงจะเป็นดินที่ออกไซด์ของเหล็กหรืออลูมิเนียมไม่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ
ดินสีขาวหรือสีเทาอ่อน
การที่ดินมีสีอ่อน อาจจะแสดงว่าเป็นดินที่เกิดมาจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกที่สลายตัวมาจากหินที่มีแร่สีจาง เป็นองค์ประกอบอยู่มาก เช่น หินแกรนิต หรือหินทรายบางชนิด หรืออาจจะเป็นดินที่ผ่านกระบวนการชะล้างอย่างรุนแรง จนธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อพืชถูกซึมชะออกไปจนหมด หรือมีสีอ่อนเนื่องจากมีการสะสมปูน ยิปซัม หรือเกลือชนิดต่างๆ ในหน้าตัดดินมากก็ได้ ซึ่งดินเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

ดินเทาหรือสีน้ำเงิน
การที่ดินมีสีเทา เทาปนน้ำเงิน หรือน้ำเงิน บ่งชี้ว่าดินอยู่ในสภาวะที่มีน้ำแช่ขังเป็นเวลานาน เช่น ดินนาในพื้นที่ลุ่ม หรือดินในพื้นที่ป่าชายเลนที่มีน้ำทะเลท่วมถึงอยู่เสมอ มีสภาพการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้เกิดสารประกอบของเหล็กพวกที่มีสีเทาหรือสีน้ำเงิน

ดินที่มีสีจุดประ
แสดงว่าิ ดินนั้นอยู่ในสภาวะที่มีน้ำแช่ขังสลับกับมีช่วงเวลาที่ดินแห้ง โดยทั่วไปมักปรากฏเป็นจุดประสีเหลืองหรือสีแดงบนพื้นสีเทา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารประกอบออกไซด์ของเหล็กที่สะสมอยู่ในดิน โดยสารเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปที่มีสีเทาเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีน้ำแช่ขัง ขาดออกซิเจนเป็นเวลานานๆ และเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่ให้สารสีแดงเมื่อได้รับออกซิเจน
3. เนื้อดิน
   
 
เนื้อดิน.. เป็นสมบัติที่บอกถึงความหยาบหรือละเอียดของดิน มีผลต่อการดูดซับน้ำ การดูดยึดธาตุอาหาร และปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในดิน  
   
  เนื้อดินเป็นผลมาจากการรวมตัวกันของชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เราเรียกกันว่า “อนุภาคของดิน” อนุภาคเหล่านี้มีขนาดไม่เท่ากัน แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ ขนาดใหญ่ เรียกว่า อนุภาคขนาดทราย (เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0-0.05 มิลลิเมตร) ขนาดกลาง เรียกว่า อนุภาคขนาดทรายแป้ง (เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.05-0.002 มิลลิเมตร) ขนาดเล็ก เรียกว่า อนุภาคขนาดดินเหนียว (เส้นผ่าศูนย์กลาง เล็กกว่า 0.002 มิลลิเมตร)
 
เราสามารถแบ่งเนื้อดินเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่มคือ ..
 
กลุ่มดินทราย

หมายถึง กลุ่มเนื้อดินที่มีอนุภาคขนาดทราย เป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่าร้อยละ 85 โดยอนุภาคจะเกาะตัวกันหลวมๆ และมองเห็นเป็นเม็ดเดี่ยวๆ ได้

ความรู้สึกเมื่อสัมผัสดินที่แห้งจะรู้สึกสากมือ แต่เมื่อลองกำดินที่แห้งนี้ไว้ในอุ้งมือแล้วคลายมือออก ดินจะแตกออกจากกันได้ง่าย ถ้ากำดินที่อยู่ในสภาพชื้นจะสามารถทำให้เป็นก้อนหลวมๆ ได้ แต่พอสัมผัสจะแตกออกจากกันทันที

ปกติดินทรายเป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศดีมาก แต่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ น้ำซึมผ่านได้อย่างรวดเร็ว มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เพราะความสามารถในการดูดยึดธาตุอาหารพืชน้อย พืชที่ขึ้นบนดินทรายจึงมักขาดทั้งธาตุอาหารและน้ำ
เนื้อดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ดินทราย และดินทรายปนดินร่วน

กลุ่มดินร่วน

โดยทั่วไปจะประกอบด้วยอนุภาคขนาดทราย ทรายแป้ง และดินเหนียวในปริมาณใกล้เคียงกัน เป็นดินที่มีเนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือ ในสภาพดินแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ ในสภาพดินชื้นดินจะยืดหยุ่นได้บ้าง

เมื่อสัมผัสหรือคลึงดินจะรู้สึกนุ่มมือ แต่อาจจะรู้สึกสากมืออยู่บ้างเล็กน้อย แต่เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายมือออก ดินจะจับกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน ดินร่วนเป็นดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก เพราะไถพรวนง่าย มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี และมักจะมีความอุดมสมบูรณ์ดี 
เนื้อดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินร่วนปนทรายแป้ง ดินร่วนปนดินเหนียว ดินร่วนเหนียวปนทราย ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ดินทรายแป้ง


กลุ่มดินเหนียว...
 

กลุ่มเนื้อดินที่ประกอบด้วยอนุภาคขนาดดินเหนียวตั้งแต่ร้อยละ 40 ขึ้นไป เป็นดินที่มีเนื้อละเอียด

ในสภาพดินแห้งจะเกาะตัวกันเป็นก้อนแข็ง เมื่อเปียกน้ำแล้วจะมีความยืดหยุ่น สามารถปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้ ลักษณะเหนียวติดมือ มีทั้งที่ระบายน้ำและอากาศดีและไม่ดี สามารถอุ้มน้ำ ดูดซับและแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้ดี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวจัดจะไถพรวนลำบาก เพราะเมื่อดินแห้งจะแข็งมาก แต่เมื่อเปียกดินจะเหนียวติดเครื่องมือไถพรวน
เนื้อดินที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ดินเหนียว ดินเหนียวปนทราย ดินเหนียวปนทรายแป้ง

   
4. โครงสร้างของดิน
 
  โครงสร้างของดิน... เป็นสมบัติทางกายภาพของดิน ที่เกิดขึ้นจากการเกาะจับกันของอนุภาคที่เป็นของแข็งในดิน (ส่วนที่เป็นแร่ธาตุหรืออนินทรียวัตถุและอินทรียวัตถุ) เกิดเป็นเม็ดดินหรือเป็นก้อนดินที่มีขนาด รูปร่าง และความคงทนแข็งแรงในการยึดตัวต่างๆ กัน เช่น เป็นก้อนกลม ก้อนเหลี่ยม เป็นแท่ง หรือเป็นแผ่นบาง
   
 

โครงสร้างของดินมีความสำคัญต่อ การซึมผ่านของน้ำ การอุ้มน้ำ การระบายน้ำ และการถ่ายเทอากาศในดิน รวมถึงการแพร่กระจายของรากพืชด้วย

ดินที่มีโครงสร้างดี มักจะมีลักษณะร่วนซุย อนุภาคเกาะกันหลวมๆ มีปริมาณช่องว่างและความต่อเนื่องของช่องว่างในดินดี ทำให้มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชสามารถชอนไชไปหาอาหารได้ง่าย โครงสร้างดินที่แข็งแรงถูกทำลายได้ยาก ก็จะทำให้ดินถูกชะล้างพังทลายได้ยากเช่นกัน


ดินในธรรมชาติ....ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างเสมอไป
ดินหลายชนิดได้ชื่อว่าเป็นดินไม่มีโครงสร้าง เช่น
ดินทราย ...
ที่มีอนุภาคขนาดทรายเดี่ยวๆ ไม่เกาะยึดกัน หรือ ดินเหนียวจัด...ที่อนุภาคดินเหนียวขนาดเล็กจับตัวกันแน่นทึบ

...โครงสร้างประเภทต่างๆ
   
แบบก้อนกลม...
มีรูปร่างคล้ายทรงกลม เม็ดดินมีขนาดเล็กประมาณ 1-10 มิลลิเมตร มักพบในดินชั้นบนที่คลุกเคล้าด้วยอินทรียวัตถุ โครงสร้างประเภทนี้ จะเกิดช่องว่างขนาดใหญ่ ขึ้นระหว่างเม็ดดิน ทำให้ดินมีความพรุนมาก สามารถระบายน้ำและอากาศได้ดี
แบบก้อนเหลี่ยม...
มีรูปร่างคล้ายกล่อง เม็ดดินมีขนาดประมาณ 1-5 เซนติเมตร มักพบในดินชั้นล่าง โครงสร้างประเภทนี้ จะมีสภาพที่น้ำและอากาศซึมได้ในเกณฑ์ปานกลาง
แบบแผ่น...
ก้อนดินมีรูปร่างแบน วางตัวในแนวราบ และซ้อนเหลื่อมกันเป็นชั้น มักพบในดินชั้นบนที่ถูกบีบอัด จากการบดไถของเครื่องจักรกล โครงสร้างดินลักษณะนี้จะขัดขวางการไหลซึมของน้ำ การระบายอากาศและการชอนไชของรากพืช
แบบแท่งหัวเหลี่ยม...
ก้อนดินมีรูปร่างเป็นแท่ง มักพบในชั้นดินล่างของดินบางชนิด โดยเฉพาะดินเค็มที่มีการสะสมโซเดียมสูงๆ หน่วยโครงสร้างแบบนี้มักมีขนาดใหญ่ คือมีความยาว 10-100 มิลลิเมตร เรียงตัวกันในแนวตั้ง ถ้าส่วนบนของปลายแท่งมีรูปร่างแบนราบ
แบบแท่งหัวมน...
ส่วนบนของปลายแท่งมีลักษณะโค้งมน ปกคลุมด้วยเกลือ เม็ดดินมีขนาด 1-10 เซนติเมตร พบในดินชั้นล่าง ของดินที่เกิดในเขตแห้งแล้ง และมีการสะสมของโซเดียมสูง ดินที่มีโครงสร้างลักษณะนี้มักจะมีสภาพให้น้ำซึมได้น้อยถึงปานกลาง
   
5. ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน
 
  ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน.. หรือที่เรียกกันว่า “พีเอช (pH)” เป็นค่าปฏิกิริยาดิน วัดได้จากความเข้มข้นของปริมาณไฮโดรเจนไอออน (H+) ในดิน
   
 

โดยทั่วไปค่าพีเอชของดินจะบอกเป็นค่าตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 14

ถ้าดินมีค่าพีเอชน้อยกว่า 7 แสดงว่าดินนั้นเป็นดินกรด
ยิ่งมีค่าน้อยกว่า 7 มาก ก็จะเป็นกรดมาก

แต่ถ้าดินมีพีเอชมากกว่า 7 จะเป็นดินด่าง

สำหรับดินที่มีพีเอชเท่ากับ 7 แสดงว่าดินเป็นกลาง

แต่โดยปกติแล้วพีเอชของดินทั่วไปจะมีค่าอยู่ในช่วง 5 ถึง 8

   
     พีเอชของดินมีความสำคัญต่อการปลูกพืชมาก.. เพราะเป็นตัวควบคุมการละลายธาตุอาหารในดิน ออกมาอยู่ในสารละลายหรือน้ำในดิน
 
ถ้าดินมีพีเอชไม่เหมาะสม
ธาตุอาหารในดินอาจจะละลายออกมาได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช หรือในทางตรงกันข้ามธาตุอาหารบางชนิด อาจจะละลายออกมามากเกินไปจนเป็นพิษต่อพืชได้
 
พืชแต่ละชนิดชอบที่จะเจริญเติบโตในดินที่มีช่วงพีเอชต่างๆ กัน สำหรับพืชทั่วๆ ไปมักจะเจริญเติบโตในช่วงพีเอช 6-7 นอกจากนี้ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ยังควบคุมการเจริญเติบโต และการทำหน้าที่ของจุลินทรีย์ดินด้วย
   
6. ความสามารถในการดูดยึดและแลกเปลี่ยนประจุบวกในดิน
 
  ความสามารถในการดูดยึดและแลกเปลี่ยนประจุบวกในดิน
เป็นสมบัติของดินที่มีความสำคัญ ต่อการสำรองปริมาณธาตุอาหารต่างๆ ไว้ในดิน และปลดปล่อยออกมาให้พืชได้ใช้ประโยชน์
   
 

อินทรียวัตถุและแร่ดินเหนียวในดิน มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อสมบัตินี้ของดิน

เนื่องจากพื้นผิวของอินทรียวัตถุและแร่ดินเหนียวจะมีประจุลบเหลืออยู่ จึงสามารถดูดยึดประจุบวกได้ แร่ธาตุอาหารที่พืชต้องการส่วนใหญ่จะมีประจุบวก เช่น ธาตุไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียม ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม เหล็ก สังกะสี

นอกจากนี้ยังช่วยในการควบคุมหรือต้านการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินด้วย โดยการดูดยึดประจุบวกที่เป็นกรด ได้แก่ ไฮโดรเจน และอลูมิเนียม ไว้

   
7. สิ่งมีชีวิตในดิน
 
  สิ่งมีชีวิตในดิน.. เป็นสมบัติทางชีวภาพของดิน ซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาศัยอยู่บนดินและในดิน แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ พืช / สัตว์ / จุลินทรีย์ดิน
 
  พืช
 

พืชมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อดิน และสิ่งมีชีวิตในดิน เนื่องจากทำหน้าที่ กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ มาสร้างเป็นสารอินทรีย์ โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง ต่อมาเมื่อส่วนต่างๆ ของพืชหลุดร่วงหรือตายทับถม และผ่านกระบวนการย่อยสลายจนกลายเป็นสารอินทรีย์ต่างๆ สารเหล่านี้ก็จะกลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ภายในดิน ที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ ต่อเนื่องไปอีกมาก และเป็นแหล่งสำคัญของธาตุอาหารพืชหลายชนิด เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและกำมะถัน

นอกจากนี้การที่พืชเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านใบ และหยั่งรากลึกลงไปดิน ยังก่อให้เกิดผลกระทบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในดินอีกหลายอย่าง เช่น การเกิดช่องว่างในดินจากการไชชอนของราก การเคลื่อนที่ของน้ำและอากาศ การหมุนเวียนของธาตุอาหาร การผุพังสลายตัวของหินกลายเป็นดิน การซึมชะ การป้องกันการสูญเสียหน้าดิน เป็นต้น

   
  สัตว์ในดิน

ดินเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิด เช่น มด ปลวก แมลงต่างๆ กิ้งกือ ตะขาบ ไส้เดือน ตุ่น งู เป็นต้น

บทบาทหลักของสัตว์ในดินส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับการขุดคุ้ยเพื่อหาอาหาร หรือเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงการกัดย่อยชิ้นส่วนของราก หรือเศษซากต่างๆ

กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดินได้ การสร้างรัง และการขุดคุ้ยไชชอนดินของมด ปลวก แมลง หรือไส้เดือนดิน เป็นการพลิกดินโดยธรรมชาติ ช่วยผสมคลุกเคล้าอินทรียวัตถุในดิน หรือช่วยผสมคลุกเคล้าดินบนกับดินล่าง และนำแร่ธาตุจากใต้ดินขึ้นมาบนผิวดิน ทำให้เกิดช่องว่างในดิน ซึ่งส่งผลให้ดินโปร่งมีการถ่ายเทอากาศดี ปลวกและไส้เดือน ยังมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายเศษอาหาร ซากพืชและสัตว์ให้มีขนาดเล็กลง จนเป็นอนุภาคขนาดจิ๋วๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ดินต่อไป

   
  จุลินทรีย์ดิน

จุลินทรีย์ดิน หมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก จนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องด

มีหลายชนิดทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ เช่น แบคทีเรีย แอคทีโนมัยซิส รา โปรโตซัว ไวรัส จุลินทรีย์ดินมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ การแปรสภาพสารอินทรีย์และอนินทรีย์ การตรึงไนโตรเจน การย่อยสลายสารเคมี ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติต่างๆ ของดิน ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมในดินเกิดสมดุล