ลักษณะสำคัญของดินในอันดับเวอร์ทิซอลส์นี้คือ
เป็นดินสีคล้ำที่ประกอบด้วยแร่ดินเหนียวที่มีการยืดหดตัวได้สูง เมื่อความชื้นเปลี่ยนแปลง
ซึ่งทำให้เกิดการแตกร่องระแหงที่ผิวหน้าในช่วงฤดูแล้ง ภายในดินชั้นล่างจะพบรอยไถล
(slickenside) มีลักษณะผิวหน้าเรียบเป็นมันที่ก้อนดิน อันเนื่องมาจากการยืดและหดตัวของดิน
พอช่วงที่ฝนตกลงมาหน้าดินบนจะเคลื่อนย้ายลงไปตามรอยระแหงที่แตก ทำให้เกิดการผสมกันระหว่างดินบนและดินล่าง
(self mulching) ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือผิวหน้าของสภาพภูมิประเทศในบริเวณที่เป็นดินนี้มักเป็นหลุมตะปุ่มตะป่ำผิวดินไม่เสมอ
(gilgi relief) และมีโครงสร้างของดินตอนบนเป็นแบบก้อนกลมพรุน ดินอันดับนี้เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่มีปฏิกิริยาเป็นด่างส่วนใหญ่
จึงมีค่าของ pH สูง หรือเป็นด่างในดินชั้นล่าง โดยทั่วไปไม่ค่อยมีปัญหาทางด้านความอุดมสมบูรณ์
แต่จะมีปัญหาทางกายภาพได้เนื่องจากดินเหนียวเกินไปและการแตกเป็นร่องระแหงที่ผิวหน้าดิน
เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้เครื่องมือกลในสนามในสภาพดินเปียก
จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเกิดดินเวอร์ทิซอลส์นั้นประกอบด้วย
วัตถุต้นกำเนิดดิน สภาพภูมิอากาศ และ สภาพภูมิประเทศ กล่าวคือ เวอร์ทิซอลส์จะพัฒนาขึ้นในบริเวณที่วัตถุต้นกำเนิดมีความเป็นด่างสูง
อาจเกิดจากวัสดุที่ถูกพัดพามาทับถม หรือผุพังอยู่กับที่ของหินที่เป็นด่างต่างๆ
ก็ได้ โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการผุพังสลายตัวจะต้องให้วัสดุที่มีเนื้อละเอียด
มีปฏิกิริยาเป็นด่าง และประกอบด้วยแร่ดินเหนียวประเภทมอนต์มอริลโลไนต์
สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเกิดดินนี้จะต้องมีช่วงที่ทำให้หน้าตัดดินแห้งได้ในรอบปี
และสภาพพื้นที่ที่พบดินนี้ส่วนใหญ่มักเป็นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงมีผิวหน้าแบบลูกคลื่นลอนลาด
ความลาดชันอยู่ในช่วงร้อยละ 1-8
เวอร์ทิซอลส์ในประเทศไทยพบเป็นบริเวณไม่กว้างขวางมากนัก ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่ราบภาคกลาง
เทือกเขาสูงตอนกลาง ที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยจำกัดอยู่ในบริเวณที่วัตถุต้นกำเนิดมีปริมาณด่างสูง
หรือในบริเวณที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากหินที่มีปฏิกิริยาเป็นด่าง เช่นหินปูน
มาร์ล บะซอลต์และแอนดีไซต์
ชุดดินที่พบได้แก่ ชุดดินท่าเรือ ช่องแค โคกกระเทียม บ้านหมี่
วังชมพู บุรีรัมย์ ลพบุรี และวัฒนา
|