ดินที่มีชั้นดานของเซสควิออกไซด์และฮิวมัส..สปอดโดซอลล์ (Spodosols)

ชุดดินบ้านทอน

 

ชุดดินท่าอุเทน

 

   ลักษณะทั่วไปของดินในอันดับสปอดโดซอลส์ที่รู้จักกันคือ เป็นดินที่ประกอบด้วยชั้นทรายสีเทาคล้ายเถ้า มีปฏิกิริยาเป็นกรด วางตัวอยู่บนชั้นที่เป็นดินร่วนปนทรายสีคล้ำ หรือแดงคล้ำ มักพบในบริเวณที่วัตถุต้นกำเนิดเป็นทรายจัด ซึ่งอาจเป็นหาดทรายเก่าของแม่น้ำหรือทะเล และอาจจะพบได้บ้างในบริเวณที่มีความลาดชันสูง


     จากการศึกษาพบว่า ชั้นที่มีสีคล้ำ แดงคล้ำ น้ำตาลปนแดง หรือสีแดง ที่วางตัวอยู่ใต้ชั้นสีซีดจาง สีเทาหรือสีเทาอ่อนนั้นเกิดจากการสะสมของอินทรียวัตถุที่สลายตัวแล้ว กับอะลูมินัมออกไซด์ และ/หรือเหล็กออกไซด์ ที่สันนิษฐานว่ามีการเคลื่อนย้ายมาสะสมในลักษณะของสารอันยรูปเคลือบบนอนุภาคแร่ธาตุของดิน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของชั้นดินล่างวินิจฉัยสปอดดิก และเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้ดินในอันดับสปอดโดซอลส์นี้แตกต่างจากดินอื่นๆ ในสภาพที่ไม่ถูกรบกวนหรือถูกรบกวนน้อย จะปรากฏชั้นดินล่างวินิจฉัยอัลบิก ซึ่งเป็นชั้นสีซีดจาง ที่แสดงว่ามีกระบวนการชะล้างวัสดุต่างๆ ออกไปจากบริเวณ วางตัวอยู่เหนือชั้นสปอดดิก
ดินสปอดโดซอลส์ มักจะพบแจกกระจายอยู่ในบริเวณที่มีฝนชุกหรือค่อนข้างชุก

     ซึ่งมีปริมาณน้ำมากพอที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของวัสดุจากตอนบนของหน้าตัดดินลงไปสะสมในชั้นดินตอนล่าง ประกอบกับจะต้องมีอินทรียวัตถุ และวัตถุต้นกำเนิดดินที่เป็นทรายจัด ทั้งยังเกี่ยวข้องกับสภาพที่มีการเคลื่อนที่ขึ้นลงของน้ำใต้ดิน ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเกิดชั้นดินล่างวินิจฉัยสปอดดิก ในประเทศไทยพบดินนี้ครอบคลุมพื้นที่น้อยมาก ส่วนใหญ่แจกกระจายอยู่ทางภาคใต้ ชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในบริเวณที่ติดกับแม่น้ำโขง ชุดดินที่รู้จักกันคือ ชุดดินบ้านทอน (Bh) และชุดดินท่าอุเทน (Tu)

     เมื่อเปรียบเทียบลักษณะหน้าตัดดินสปอดโดซอลส์ที่แจกกระจายอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย พบว่า ดินในบริเวณภาคใต้ และชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ จะมีพัฒนาการของชั้นดินล่างวินิจฉัยสปอดดิกที่ชัดเจนและชั้นอัลบิกมีความหนามากกว่าดินที่เกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากการมีลักษณะการแจกกระจายของฝนที่สม่ำเสมอมากกว่า ทำให้เกิดสภาพเปียกและชื้นที่ต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกิดการชะล้างวัสดุจากตอนบนลงไปสะสมในชั้นดินตอนล่างได้ชัดเจน พัฒนาการของหน้าตัดดินที่พบในภาคใต้มักเป็นแบบ A-E-Bh หรือ A-B-Bh-C ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแบบ A-Bh, Oi-A-E-Bh-C-IIC หรือ Oi-A-E-Bh-Bc-IIC
สปอดโดซอลส์ที่พบในประเทศไทยนั้น ในสภาพธรรมชาติจัดเป็นดินที่ไม่เหมาะสมในเชิงการเกษตร เนื่องจากเป็นดินทรายจัด มีความจุในการอุ้มน้ำต่ำ ระบายน้ำดีเกินไป มีชั้นดินล่างที่อาจเป็นชั้นดานจับตัวแน่นในสภาพชื้น เป็นปัญหาต่อการใช้น้ำและไชชอนของรากพืช ความอุดมสมบูรณ์ของดินอยู่ในเกณฑ์ต่ำถึงต่ำมาก

     นอกจากนี้การสะสมของอะลูมินัมและเหล็กในปริมาณที่สูงอาจมีผลต่อการใช้ประโยชน์ธาตุอาหารพืชบางชนิด หรืออาจเป็นพิษต่อพืชได้
ตามระบบการจำแนกดินของ USDA1938 ดินนี้จัดอยู่ในกลุ่มดินหลัก Ground-water Podzols และ Podzols