กลุ่มชุดดินในพื้นที่ลุ่ม
กลุ่มชุดดินที่ 20
 
ชุดดิน :
ชุดดินกุลาร้องไห้ (Ki) ชุดดินหนองแก (Nk) ชุดดินทุ่งสัมฤทธิ์ (Tsr) และชุดดินอุดร (Ud)
 
ลักษณะเด่น :
กลุ่มดินเค็มเกิดจากตะกอนลำน้ำ มีคราบเกลือลอยหน้าหรือมีชั้นดานแข็งที่สะสมเกลือภายในความลึก 100 ซม. จากผิวดิน ปฏิกิริยาดินเป็นกรดเล็กน้อยถึงเป็นด่าง การะบายน้ำค่อนข้างเลว ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
 
ปัญหา :
ดินเค็ม มักพบชั้นดานแข็งที่มีการสะสมเกลือ เนื้อดินค่อนข้างเป็นทราย ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และขาดแคลนแหล่งน้ำจืด ในพื้นที่ดินเค็มจัด มีคราบเกลือมาก ไม่มีแหล่งน้ำจืด และน้ำท่วมขังในฤดูฝน ทำความเสียหายกับพืชที่ไม่ชอบน้ำ
 
แนวทางการจัดการ :
ปลูกข้าว เลือกพันธุ์ข้าวที่ทนเค็มมาใช้ปลูก ปล่อยให้มีน้ำขังและล้างเกลือออกไปจากดิน ไถกลบตอซัง ปล่อยไว้ 3-4 สัปดาห์ หรือไถกลบพืชปุ๋ยสด (หว่านโสนอัฟริกันหรือโสนอินเดีย 6-8 กิโลกรัม/ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 50-70 วัน ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์) ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ใช้กล้าข้าวที่มีอายุ 30-35 วัน จำนวน 5-8 ต้น/จับ ระยะปักดำ 20x20 ซม. ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าหลังปักดำ 35-45 วัน พัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบการให้น้ำในแปลงปลูก
   
ปลูกพืชไร่ พืชผัก หรือไม้ผล ควรเลือกพื้นที่ที่มีคราบเกลือไม่มากนักและมีแหล่งน้ำชลประทาน เลือกพืชที่ทนเค็มมาปลูก ยกร่องกว้าง 6-8 เมตร คูน้ำกว้าง 1.0-1.5 เมตร ลึก 0.5-1.0 เมตร ทำคันดินอัดแน่นล้อมรอบ ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 3-4 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หรือขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. ปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก 25-50 กิโลกรัม/หลุม ใช้สารยิปซั่มคลุกเคล้ากับดินและใช้น้ำล้าง มีวัสดุคลุมดิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกลือขึ้นมาอยู่ที่ผิวดิน ในช่วงเจริญเติบโต ก่อนเก็บผลผลิตและภายหลังเก็บผลผลิต ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ตามชนิดพืชที่ปลูก พัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบการให้น้ำในแปลงปลูก
   
  ที่มา : สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน. 2548. มหัศจรรย์พันธุ์ดิน. กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ
  ......กลับหน้าหลัก..กลุ่มชุดดิน