๒๘ เมษายน ๒๕๕๗
โครงการสำรวจและทำแผนที่ความชื้นภาคตะวันออกของประเทศไทย
 

น้ำที่เป็นประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตของพืช จะอยู่ในรูปของความชื้นที่เกาะอยู่ตามเม็ดดินและช่องว่างในดิน ซึ่งเกิดจากการซึมของหยดน้ำเข้าสู่ดินและถูกดูดซับไว้โดยอนุภาของดิน ความชื้นนี้จะคงอยู่ในดินจนกระทั่งเกิดการระเหยหรือถูกรากพืชดูดไปใช้ การเปลี่ยนแปลงความชื้นในดินเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ปริมาณน้ำฝน อัตราการระเหย สภาพภูมิประเทศ ลักษณะและปริมาณของพืชที่คลุมดิน และสมบัติของดินที่ยอมให้น้ำซึมผ่านและดูดซับน้ำไว้ในดิน
โครงการนี้จึงให้ความสนใจที่จะดำเนินการสำรวจและจัดทำแผนที่สภาพความชื้นดิน ที่เน้นการวิเคราะห์ความชื้นที่มีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิประเทศ สมบัติทางกายภาพของดินที่จะกักเก็บน้ำได้ และสภาพภูมิอากาศ โดยในปี 2553 มีพื้นที่ดำเนินการครอบคลุม 7 จังหวัด ในภาคตะวันออก รวมเนื้อที่ประมาณ 21.49 ล้านไร่ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินปริมาณความชื้นของดินสำหรับการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง และเพื่อจัดทำแผนที่ศักยภาพความชื้นของดิน

เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผลทางเศรษฐกิจ เช่น พืชไร่ ผลไม้ชนิดต่างๆ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ฉะนั้นเศรษฐกิจของภาคตะวันออกจะขับเคลื่อนได้ต้องมีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่ที่ผ่านมา แม้จะเป็นภาคที่มีปริมาณฝนเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1,100 ถึง 4,850 มม. ก็ตาม แต่เมื่อสิ้นฤดูฝนเข้าสู่ฤดูแล้งภูมิภาคนี้มักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเกือบทุกปี เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนต่างๆ เริ่มลดลง โดยในปี 2553 มีรายงานแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งถึง 6 จังหวัดของภาค ยกเว้นเพียงจังหวัดตราดเท่านั้น
การจัดทำแผนที่ศักยภาพความชื้นของดิน จะประเมินจากข้อมูลแผนที่ใน 3 ส่วนหลัก คือ

1. แผนที่ความจุน้ำใช้ประโยชน์ได้ (Available Water Capacity : AWC) แผนที่นี้สร้างจากฐานข้อมูลแผนที่ดิน และข้อมูลสมบัติทางกายภาพของดิน ได้แก่ เนื้อดินท ปริมาณชิ้นส่วนหยาบ และการพบชั้นกั้นขวางการแทรกซึมน้ำในดินล่าง

2. แผนที่ดัชนีความชื้นที่สัมพันธ์กับสภาพภูมิประเทศ (Topographic Wetness Index :TWI) ที่ได้จากการวิเคราะห์สภาพพื้นผิวของภูมิประเทศ (Terrain Analysis) และการการวิเคราะห์ทางอุทกวิทยา ด้วยข้อมูลแบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (DEM)

3. แผนที่ปริมาณความชื้นสะสมในดินจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนและค่าศักย์การระเหยน้ำจากข้อมูลสภาพภูมิอากาศในแต่ละเดือน โดยใช้เทคโนโลยีระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) เป็นเครื่องมือในการสร้างและซ้อนทับชั้นข้อมูลแผนที่ ร่วมกับการตรวจวัดความชื้นของดินตัวแทนในพื้นที่จริง

ข้อมูลแผนที่ศักยภาพความชื้นดินรายจังหวัดที่ได้ จะเป็นประโยชน์สำหรับการจัดการดินและน้ำเพื่อการปลูกพืชทางการเกษตร เช่น การให้น้ำ การเลือกชนิดพืชให้เหมาะสมกับปริมาณความชื้นของดินตลอดฤดูปลูก การจัดการปุ๋ย รวมถึงการวางแผนสร้างสระน้ำในไร่นา และการวางแผนการใช้ที่ดินทางการเกษตร ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา รายงานประจำปี 2553 สำนักสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน

 
 

สำนักสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน
กรมพัฒนาที่ดิน ๒๐๐๓/๖๑ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐

โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๑๑๙๒ หรือ ๑๗๖๐ ต่อ ๑๓๓๙